svasdssvasds

นักวิชาการห่วงกัมมันตรังสีตกค้างในปลา เหตุญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

นักวิชาการห่วงกัมมันตรังสีตกค้างในปลา เหตุญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทร ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยชี้ว่าสารกัมมันตรังสีอาจตกค้างในสิ่งแวดล้อม สะสมในห่วงโซ่อาหาร กระทบถึงมนุษย์

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีปริมาณกว่า 1 ล้านเมตริกตันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยได้แสดงความกังวลว่า ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยืนยันว่าน้ำดังกล่าวได้ผ่านการบำบัดแล้ว และมีปริมาณรังสีซีเซียมไม่เกินกว่าค่าที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า เนื่องจากรังสีซีเซียมจะมีค่าครึ่งชีวิต (half-life) อยู่ที่ 30 ปี ดังนั้นปริมาณรังสีจะยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกเป็นเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยปริมาณน้ำปนเปื้อนมหาศาลดังกล่าวที่จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร จะทำให้เกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับห่วงโซ่

กล่าวคือเมื่อปลาเล็กกินแพลงตอนที่มีรังสีปนเปื้อนเข้าไป ก็จะมีการสะสมรังสีในตัว พอปลาเล็กถูกปลาใหญ่กินก็จะรับปริมาณรังสีสะสมเข้าสู่ร่างกายของมันเช่นกัน และในที่สุดเมื่อถึงผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร นั่นก็คือมนุษย์ เราก็จะได้รับรังสีปริมาณมากจากการกินปลาที่ปนเปื้อนรังสีมาตลอดทั้งห่วงโซ่อาหารเข้าไป

น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลที่ถูกเก็บไว้ในแท๊งค์เหล่านี้จะถูกปล่อยลงทะเลในวันที่ 24 สิงหาคม

“ถึงแม้ว่าการกินปลาปนเปื้อนรังสีเหล่านี้เข้าไป อาจจะยังไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉับพลัน แต่รังสีเหล่านี้ก็จะเข้าไปสะสมในร่างกาย เหมือนกับเวลาที่เราไปเอ็กซเรย์ หรือสัมผัสรังสีอื่นๆ แต่ถ้าร่างกายของเรายังคงรับรังสีเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยร้ายแรง จนถึงขั้นมะเร็งได้” สนธิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ สนธิ จึงเสนอว่า ในเบื้องต้น สังคมไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกนัก แต่ก็ควรที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบวัดสารกัมมันตรังสีตกค้างในปลาที่มาจากน่านน้ำญี่ปุ่นก่อนจะนำมาบริโภค

ในขณะเดียวกัน กรีนพีซประจำประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทร โดยกล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลโดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การละเมิดสิทธิมนุษย์ของชุมชนในญี่ปุ่นและภูมิภาคแปซิฟิก และไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ และที่สำคัญไปว่านั้นคือการไม่คำนึงถึงความกังวลของประชาชนและชาวประมง

เจ้าพนักงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กำลังเข้าตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุฟุชิมะ ไดอิจิ  ที่มาภาพ: IAEA

“เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทร แม้ว่าจะมีการแสดงความกังวลจากชาวประมง พลเมือง ชาวฟุกุชิมะ และภาคประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแปซิฟิก และประเทศเพื่อนบ้าน การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงเกิดขึ้น" ฮิซาโยะ ทาคาดะ ผู้จัดการโครงการรณรรงค์ กรีนพีซญี่ปุ่นกล่าว

ฮิชาโยะ ชี้ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีที่รอการปล่อยสู่มหาสมุทรกำลังเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ นอกจากนี้การปนเปื้อนรังสีในน้ำจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี เพราะยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในกรุงเจนีวา ตลอดจนผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ได้คัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์แผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น โดยระบุว่า การทิ้งน้ำเปื้อนรังสีของญี่ปุ่นนั้นเป็นการเพิกเฉยต่อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่ 48/13 ปี 2564 ที่ระบุว่าการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันทางกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายในการดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมการทิ้งของเสียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน

related