svasdssvasds

ความเสี่ยงนิวเคลียร์รั่วไหลใกล้บ้าน รู้จักโครงการเตาปรมาณูนครนายก

ความเสี่ยงนิวเคลียร์รั่วไหลใกล้บ้าน รู้จักโครงการเตาปรมาณูนครนายก

คนนครนายกเผยความกังวล สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เตรียมสร้างโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกกะวัตต์ ที่ อ.องครักษ์ และมีการกักเก็บกากกัมมันตรังสีในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หากรั่วไหลสารกัมมันตรังสีอาจต่อตรงตามแนวคลองรังสิตถึงกรุงเทพฯ

ผลพวงจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ลงสู่มหาสมุทร ทำให้ทั่วโลกต่างวิตกกังวลถึงความเสี่ยงการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารทะเล

อย่างไรก็ตาม ประสงค์ ปาณศรี เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ เผยว่า คนกรุงเทพฯ อาจได้รับความเสี่ยงจากกัมมันตภาพรังสีจากแหล่งใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อแหล่งเกษตรและพื้นที่ลุ่มเสี่ยงน้ำท่วมใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกกะวัตต์ และยังมีโรงกักเก็บกากกัมมันตรังสีขนาดใหญ่ในพื้นที่

“พื้นที่อ.องครักษ์ จ.นครนายก ถือเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ไม่ต้องพูดถึงการเอากากกัมมันตรังสีมากักเก็บในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ซ้ำยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายคูคลองเชื่อมโยงกับทั้งแม่น้ำนครนายก ลงสู่แม่น้ำบางปะกง และเชื่อมต่อกับคลองรังสิต ที่เชื่อมโยงกระแสน้ำตรงถึงกรุงเทพมหานคร” ประสงค์ กล่าว

พื้นที่ตั้งโครงการเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

เขากล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู และการนำกากกัมมันตรังสี มากักเก็บในพื้นที่ อ.องครักษ์ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านขับเคี่ยวกันมาอย่างยาวนานนั้บตั้งแต่ปี 2553 เมื่อสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดแผนสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูแห่งใหม่ ขนาด 10 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ จนสร้างความหวาดหวั่นให้กับชุมชน เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งหากเกิดน้ำท่วมขึ้นมา อาจมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม และกระจายปนเปื้อนไปทั่วพื้นที่ผลิตอาหารของ จ.นครนายก และพื้นที่ข้างเคียงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประสงค์เล่าต่อว่า ผลพวงจากกระแสตื่นกลัวนิวเคลียร์ เมื่อเกิดเหตุสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นจนเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี 2554 ทำให้โครงการดังกล่าวถูกชะลอไป จนกระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 โครงการจึงกลับมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ยังได้เพิ่มกำลังเตาปรมาณูขึ้นเป็นสองเท่าถึง 20 เมกกะวัตต์ ภายใต้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท

“ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการนำกากกัมมันตรังสีเข้ามาเก็บในพื้นที โดยล่าสุดพวกเรายังด้สงสัยว่าฝุ่นเถ้าปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากกรณีซีเซียม-137 ที่ จ.ปราจีนบุรี ก็นำมากักเก็บไว้ที่นี่เช่นกัน ซึ่งถ้าพื้นที่เกิดน้ำท่วมขึ้น เช่นเดียวกับเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ กากกัมมันตรังสีเหล่านี้อาจรั่วไหลไปตามกระแสน้ำ ลงไปตามลำน้ำ และเข้าถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านเครือข่ายคลองรังสิตได้อย่างง่ายดาย” ประสงค์ กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า ล่าสุด สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำลังจะจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 กันยายน ที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์กีฬาเทศบาลตำบลองครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ร่วมกับการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ (แอพพลิเคชั่น Zoom)

ดังนั้นเขาจึงอยากให้ประชาชนร่วมกันจับตาความเคลื่อนไหวของโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเป็นโครงการที่เสี่ยงสร้างผลกระทบร้ายแรงชนิดที่แก้ไขไม่ได้ให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนทั้งในพืท้นที่และในจังหวัดข้างเคียง

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องปัจจุบันของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อนึ่ง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการจัดสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ว่า เพื่อเป็นการทดแทนเครื่องเดิมที่มีอายุการใช้งานมา 60 ปี และไม่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้ประโยชน์ที่มากขึ้น ตลอดจนเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องเดิมกำลังจะหยุดการผลิต

โดยหากมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ จะช่วยสร้างประโยชน์ทั้งด้านการยกระดับด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไทย ทำให้เพิ่มโอกาสของผู้ป่วยในการเข้าถึงการวินิจฉัยและบำบัดรักษา โรคด้วยรังสีวิทยาได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าไอโซโทปรังสีจากต่างประเทศ ช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสนับสนุนงานบริการตรวจสอบ วิเคราะห์ตัวอย่าง การวิจัยพัฒนาเพิ่มผลผลิตการเกษตร การแพทย์ วัสดุศาสตร์ นิวเคลียร์ฟิสิกส์ และ การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ทางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอีกด้วย

related