svasdssvasds

ชวนรู้จักปรากฏการณ์ 'จันทรุปราคา' เงาโลกสะท้อนดวงจันทร์ หรือแค่ราหูอม?

ชวนรู้จักปรากฏการณ์ 'จันทรุปราคา' เงาโลกสะท้อนดวงจันทร์ หรือแค่ราหูอม?

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า จันทรุปราคาบางส่วนจะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันออกพรรษาที่ 29 ต.ค. นี้ เริ่มคราสตั้งแต่ช่วง 02:35 น. สิ้นสุด 05:26 น.

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ชวนแหงนหน้ามอง ‘จันทรุปราคาบางส่วน’ ที่จะคราสกินในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 ต.ค. วันออกพรรษา

จันทรุปราคาครั้งนี้สามารถสังเกตได้หลายบริเวณได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้

จันทรุปราคาบางส่วน Cr. Wikipedia

สำหรับประเทศไทย NARIT แจ้งว่า จะเริ่มสังเกตจันทรุปราคาได้ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 01:01 คราสกินยาวไปจนถึงช่วง 05:26

ไทม์ไลน์จันทรุปราคา (9 ต.ค.)  จาก NARIT

  • เวลา 01:01 น. ดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่เงามัวของโลก และเกิดจันทรุปราคาเงามัว แสงสว่างของดวงจันทร์ในช่วงนี้จะน้อยลง และสังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก
  • เวลา 02:35 น. ดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่เงามืดของโลก และจะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน จากดวงจันทร์ที่เต็มดวงก็จะค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย
  • เวลา 03:14 น. เป็นช่วงดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบังมากที่สุด ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์
  • เวลา 03:52 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
  • เวลา 05:26 สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาประจำวันที่ 29 ต.ค.

สรุปแล้ว เวลาที่จะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนวันที่ 29 ต.ค. 66 อยู่ราว 1 ชั่วโมง 17 นาที

 

จันทรุปราคาเกิดจากอะไร?

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือ Lunar Eclipse เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ได้โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์ไม่ได้รับแสงที่สะท้อนจากดวงอาทิตย์ เพราะมีโลกตั้งขวางทิศทางของแสงอยู่

จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในช่วงขึ้น 14 – 15 ค่ำ ที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น จันทรุปราคาเริ่มต้นเมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงจันทร์โดนเงามืดจากโลกบังเต็มดวง

 

จันทรุปราคามีกี่แบบ?

เนื่องจากดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกเรื่อย ๆ ตำแหน่งของดวงจันทร์ที่ถูกเงามืดของโลกบดบังสามารถจำแนกได้หลัก ๆ ดังนี้

  1. จันทรุปราคาแบบเต็มดวง (Total Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรไปอยู่ในเงามืดของโลกแบบพอดิบพอดี นั่นทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกหักเห เมื่อพระจันทร์เต็มดวง เราจึงเห็นพระจันทร์มีส้มหรือสีแดงอิฐ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ พระจันทร์สีเลือด
  2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก
  3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืด นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงเห็นดวงจันทร์ที่มีสำคล้ำ ๆ ดำ ๆ นั่นก็เพราะดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงน้อยนั่นเอง

จันทรุปราคาเต็มดวง Cr. Flickr

จันทรุปราคาบางส่วน Cr. Flickr

จันทรุปราคาเงามืด Cr.Flickr

ในปีนี้ ได้เกิดจันทรุปราคาไปแล้ว 1 ครั้งคือ จันทรุปราคาเงามัว (6 พ.ค.) จันทรุปราคาบางส่วน (29 ต.ค.) จึงถือเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปกติ ใน 1 รอบปีจันทรุปราคาสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 – 5 ครั้ง แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

ล่าสุดที่จันทรุปราคาเกิดขึ้นหลายครั้งใน 1 รอบปีก็คือ ปี 2563 ที่เกิดจันทรุปราคาถึง 4 ครั้งและเป็นจันทรุปราคาเงามืดทั้งหมด

จันทรุปราคา 2563

  1. 10 ม.ค. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
  2. 5 มิ.ย. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
  3. 5 ก.ค. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
  4. 30 พ.ย. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)

 

รู้หรือไม่! ยิ่งมีฝุ่นในชั้นบรรยากาศมากเท่าไร แสงจากจันทรุปราคาก็จะสว่างน้อยลงเท่านั้น

เราทราบกันถ้วนทั่วแล้วว่าฝุ่นสามารถส่งผลกระทบในแง่ลบของสุขภาพของมนุษย์ได้ ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง

แต่นอกเหนือจากผลกระทบที่มนุษย์ได้รับแล้ว ฝุ่นบางส่วนก็ถูกพัดลอยไปตามลมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ลอยเกาะกันเป็นแผงอยู่บนนั้นและทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นโลกได้ไม่เต็มที่

และนั่นรวมถึงการรับชมจันทรุปราคาบางส่วนนี้ด้วย ชั้นฝุ่นที่เกิดขึ้นจะทำให้แสงวาบบนดวงจันทร์สว่างไสวน้อยลง เนื่องจากสายตามนุษย์ถูกฟิลเตอร์ด้วยฝุ่นเอาไว้อยู่หนึ่งชั้น

แถมฝุ่นยังไปบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้สามารถเดินทางผ่านโลกไปยังดวงจันทร์ได้เต็มที่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมปริมาณของฝุ่นบนชั้นบรรยากาศถึงมีผลต่อแสงวาบบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น เช้ามืดวันออกพรรษา 29 ต.ค. นี้ ใครตื่นไหวก็อย่าลืมแหงนหน้ามองฟ้ารับชมจันทรุปราคาบางส่วนได้ แต่ถ้าใครตื่นไม่ไหวก็สามารถรับชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ที่เฟสบุ๊คของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ Narit ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/NARITpage

ที่มา: NewScientist

ข่าวที่เกี่ยวข้อง