สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565 โดยจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.02 - 20.56 น. ตามเวลาประเทศไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้แพร่เผยข้อความ ชวนชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้
8 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.02 - 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้
บทความที่น่าสนใจ
ประเทศไทย ตรงกับคืนเดือนเพ็ญ และเป็นวันลอยกระทงของปีนี้ด้วย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17.44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17.44 น. เป็นต้นไป
ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงขึ้น 14 - 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
โดยในคืนดังกล่าว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทงเวลา 18:00 - 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 081-8854353 ซึ่งจุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่
1. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว
2. เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
3. เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
4 เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่ง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022