svasdssvasds

เผย 4 ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ก่อนเห็นของจริงในคืนนี้ 1 ทุ่มเป็นต้นไป

เผย 4 ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ก่อนเห็นของจริงในคืนนี้ 1 ทุ่มเป็นต้นไป

พร้อมไหมคืนนี้? เตรียมพบกับปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก พร้อมทั้งดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีทั้ง 4 ดวง ยูโรปา ไอโอ แกนีมีดและคัลลิสโต พร้อมกันเหนือน่านฟ้า ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มเป็นต้นไป

ก่อนที่เราจะไปรับชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลก คำถามที่หลายคนสงสัยเลยก็คือ บรรดาดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ที่โคจรเหมือนเป็นแมลงตอมเกสรดอกไม้อยู่ใกล้ ๆ มนุษย์บนโลกจะมีโอกาสได้ยลโฉมด้วยไหม

คำตอบคือ เห็นได้ แต่อาจจะต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ (Telescope) ที่มีกำลังขยายมาก ๆ เพื่อที่จะได้เห็นอย่างแม่นยำ

ฉะนั้น ยังเหลือเวลาอีกสักเล็กน้อยก่อนจะถึงช่วงค่ำ คอลัมน์ Keep The World ชวนรู้จัก 4 พี่น้องดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ว่ามีอะไรบ้าง มีความเป็นมาอย่างไร ลักษณะเด่นที่ชวนสังเกตมีอะไรบ้าง

ดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีที่ใหญ่ที่สุดทั้ง 4 ดวง Cr. Flickr

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีทั้งหมดที่ถูกค้นพบและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วมีทั้งหมด 92 ดวง แต่ที่เราจะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ 4 ดาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวบริวารอื่น ๆ  

ไอโอ (IO)

ก่อนอื่น เราขอพาคุณย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี 1610 ดาวไอโอจากที่เคยอยู่แบบสงบเงียบในห้วงอวกาศมายาวนาน ก็ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีคนหนึ่ง

ผู้ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น Polymath ซึ่งหมายความว่า คนที่เชี่ยวชาญในทุก ๆ ศาสตร์ เขาผู้นี้มีนามว่า กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) หรือเจ้าของคำพูด ‘ยูเรก้าร์’ (Eureka) แบบที่เราเคยได้ยินกันในคาบวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ดาวไอโอเต็มไปด้วยภูเขาไฟ Cr. NASA

มาถึงปัจจุบัน ไอโอ หรือเจ้าของฉายา ‘ราชาแห่งภูเขาไฟ’ ของระบบสุริยะ ดาวไอโอคือ ดาวบริวารของดาวพฤหัสลำดับที่ 5 มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3,642 กิโลเมตร สภาพแวดล้อมโดยรวมบนดาวแห่งนี้นับว่าโหดร้ายทารุณเป็นอย่างมาก

เพราะ NASA ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ยานจูโน (Juno) ที่ถูกปล่อยออกสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ได้รับคำสั่งให้ล่องลอยอยู่บริเวณรอบ ๆ ดาวไอโอ และคอยบันทึกภาพไว้ จากนั้นก็สะท้อนกลับมายังโลก สิ่งที่ยานจูโนสะท้อนกลับมายังโลก ทำให้นักดาราศาสตร์ถึงกับขนลุกขนพอง

เพราะบนดาวไอโอนั้นเต็มไปด้วยภูเขาไฟจำนวนกว่า 400 ลูก โดยภูเขาไฟบางลูกมีขนาดใหญ่กว่าภูเขาเอเวอเรสต์ (Everest) เสียอีก ทำให้ตอนนี้ ท่ามกลางระบบสุริยะ (Solar System) ดาวไอโอถือเป็นพี่ใหญ่ ในเรื่องที่ว่ามีภูเขาไฟที่ปะทุ และรอการปะทุมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจพบ

ยานอวกาศจูโนลอยอยู่บริเวณรอบ ๆ ดาวพฤหัสบดี Cr. Flickr

รู้หรือไม่? ภูเขาเอเวอเรสต์ตั้งอยู่บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 8,849 เมตร 

ยูโรปา (Europa)

นี่ไม่ใช่รายการแข่งขันที่สโมสรลิเวอร์พูลกำลังลงแข่งขันแต่อย่างใด แต่เป็น 1 ในดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในบรรดาดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,000 กิโลเมตร และคนที่ค้นพบก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อัจฉริยะคนเดิมจากอิตาลี กาลิเลโอ กาลิเลอี นั่นเอง

ดาวยูโรปา Cr. Flickr

อัจฉริยะชาวอิตาลีผู้เป็น Polymath Cr. Store Norske Leksikon

หากไอโอ ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งภูเขาไฟ ยูโรปาก็ไม่น้อยหน้า เพราะดาวแห่งนี้เต็มไปด้วยหนามน้ำแข็งปกคลุมถ้วนทั่วทั้งดาว หากนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงหนามแหลม ๆ ตามตัวเม่น แต่เปลี่ยนจากหนามเป็นแท่งน้ำแข็งที่มีลักษณะแหลมคม มีสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป

อุปสรรคของพื้นผิวของดาวยูโรปา ทำให้เป็นเรื่องยากในการสำรวจ เพราะยานอวกาศจะคำนวณจุดลงจอดได้ยาก และอาจทำให้ยานเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายอีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่ดาวเจ้าน้ำแข็งแห่งนี้มีแท่งน้ำแข็งผุดขึ้นทั่วบริเวณทั้งดาวก็เพราะ ดาวไอโอมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ -184 องศาเซลเซียส นี่จึงเป็นเรื่องยากมากที่สิ่งมีชีวิตแบบที่เรารู้จัก (Life as we know it) จะดำรงอยู่ได้

รู้หรือไม่? หนามน้ำแข็งบนดาวยูโรปาจะสูงขึ้น 1 ฟุต ในทุก ๆ 1 ล้านปี เหตุผลเพราะดาวยูโรปาหันหน้าเข้าหาดาวพฤหัสบดีอยู่ตลอด ทำให้บนดาวไอโอไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล พูดง่าย ๆ คือ หนามน้ำแข็งที่เราเห็นนี้ เป็นหนามน้ำแข็งที่อยู่มากว่า 50 ล้านปีแล้ว

แกนีมีด (Ganymede)

นี่อาจเป็นดาวของแม็กนีโต้ (Magneto) จากจักรวาล X-men ก็เป็นได้ เพราะแกนีมีดถูกนักดาราศาสตร์ค้นพบว่า มีสนามแม่เหล็กเป็นของตนเอง และสนามแม่เหล็กที่ทรงพลังนี้เอง ทำให้ดาวแกนีมีดมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสูงกว่าดาวพฤหัสบดีมากถึง 1 ล้านเท่า

ส่วนผู้ที่คนพบคงไม่ต้องเอิ้นเอ่ยกันอีก เพราะเขาคือคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ดาวแกนีมีดมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๆ 5,268 กิโลเมตร และเป็นดวงจันทร์ลำดับที่ 7 ของดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี  

ดาวแกนีมีด Cr. Flickr

แม้ในปี 2021 จะมีการรายงานว่า ยานจูโนจะเข้าใกล้กับดาวแกนีมีดในระยะ 1,038 กิโลเมตรแล้ว แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ถึงต้นตอของสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นบนดาวแห่งนี้ได้ ว่ามีจุดกำเนิดอย่างไร สิ่งเดียวที่มนุษย์พอจะตักตวงความรู้มาจากดาวแกนีมีดได้ก็คือ การออกแบบยานสำรวจอวกาศที่ต้องเผชิญกับดาวที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันทรงพลังในอนาคตข้างหน้า

รู้หรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญได้นำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนดาวแกนีมีด มาแปลงเป็นคลื่นเสียง (Chorus wave) ซึ่งแล้วคล้ายเสียงนกขับร้อง และเสียงวาฬที่เอื้อนเอ่ยผสม ๆ กันไป

รับฟังเสียงดังกล่าวได้ที่นี่

คัลลิสโต (Callisto)

มาถึงดาวบริวารลำดับที่ 8 ของดาวพฤหัสบดี และแน่นอน คัลลิสโตก็มิอาจรอดพ้นสายตาของอัจฉริยะชาวอิตีลาผู้นั้นไปได้ ดาวคัลลิสโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๆ 4,820 กิโลเมตร หากนับเฉพาะเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างเดียว ดาวคัลลิสโตจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าดาวพุธราว 99% แต่มวลของดาวยังน้อยกว่าดาวพุธอยู่ประมาณ 1 ใน 3

ดาวยูไรปา ไอโอ และแกนีมีดที่ได้กล่าวไป เป็นดาวที่มีลักษณะเด่นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ภูเขาไฟ หนามน้ำแข็ง หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ดาวคัลลิสโตจะน้อยหน้าเพื่อน ๆ ไปได้อย่างไร

ดาวคัลลิสโต Cr. Flickr

นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ดาวคัลลิสโตอาจจะมีมหาสมุทรที่เป็นน้ำเค็มหลบซ่อนอยู่ใต้ผืนพิภพของดาว ซึ่งอาจอยู่ลึกลงไปกว่า 100 กิโลเมตร

สภาพแวดล้อมบนดาวดวงนี้หลัก ๆ แล้วประกอบไปด้วยหินและน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในระดับชั้นบรรยากาศจะฟุ้งไปด้วยก๊าซคาร์บอนฯ และมีออกซิเจนเจือปนอยู่เล็กน้อย ในส่วนของอุณหภูมิ ดวงดาวนี้มีสนนความเย็นยะเยือกอยู่ที่ -139.2 องศาเซลเซียส หากจะเรียกว่าเป็นช่องฟรีซก็คงไม่เกินจริงนัก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ย้ำกันอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเวลา 1 ทุ่มเป็นต้นเราจะได้เห็นปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก หลังจากได้รู้จักกับเพื่อนฝูงของดาวพฤหัสบดีแล้ว นอกเหนือจากสอดส่องเพื่อไปดูดาวพฤหัสบดีแล้ว คงไม่เสียหายอะไร หากเราจะแอบกวาดสายตาไปยังเหล่าเพื่อน ๆ ของดาวพฤหัสบดีด้วย

ฝากช่องทางกันอีกครั้ง สามารถรับชมปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกได้ทางเฟซบุ๊ก LIVE ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT ได้ที่ช่องทาง https://www.facebook.com/NARITpage

ที่มา: MYSCI

        MGR

        BBC

       NASA

      Thaiastro

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related