svasdssvasds

27 กันยายน ชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” โคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 59 ปี

27 กันยายน ชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” โคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 59 ปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” โคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 59 ปี ในคืนวันที่ 27 กันยายนนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ในคืนวันที่ 27 กันยายน ดาวพฤหัสบดีจะโคจรใกล้โลกมากที่สุด ในรอบ 59 ปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

คืนวันที่ 27 กันยายน 2565 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดีจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เป็นตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร ปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาใกล้โลกทุกปี และครั้งนี้ยังถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2506

27 กันยายน ชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” ใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี

บทความที่น่าสนใจ

วันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างมากทางทิศตะวันออก ดูได้ด้วยตาเปล่า ทุกภูมิภาคทั่วไทย หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์กาลิเลียน 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต ได้อย่างชัดเจน

อีกทั้งคืนดังกล่าวยังมีโอกาสเห็นเหตุการณ์ขณะที่ดวงจันทร์ไอโอเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 21:48 - 00:04 น. รวมถึงยังคงเห็นดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย

โดยคืนวันอังคารที่ 27 กันยายนนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ชวนส่องแทบเมฆ และดวงจันทร์กาลิเลียนของดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

27 กันยายน ชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” ใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี

สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่ง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022

นอกจากนี้ ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 19:00 น. เป็นต้นไป

ที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

related