svasdssvasds

นักวิทย์ค้นพบ พืชสื่อสารได้เมื่อมีภัย และบอกต่อให้เพื่อนบ้านระวังตัว

นักวิทย์ค้นพบ พืชสื่อสารได้เมื่อมีภัย และบอกต่อให้เพื่อนบ้านระวังตัว

นักวิทย์ค้นพบ และสามารถบันทึกวิดีโอ พืชกำลังคุยกับเพื่อนบ้าน และเตือนเพื่อนบ้านเมื่อสัมผัสได้ถึงภัยอันตราย แสดงให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตสีเขียวสื่อสารกันได้

พืช คือสิ่งมีชีวิตที่คงกระพันชนิดหนึ่งของโลก แม้ตาย แต่หากเศษเสี้ยวของชีวิตยังเหลืออยู่ ก็สามารถเจริญเติบโตออกมาได้ใหม่ หากสภาพแวดล้อมเอื้อมากพอ แม้มนุษย์เราไม่มีใครเคยได้ยินเสียงพวกมันมาก่อน เพราะมันพูดไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้ว พืชสื่อสารได้นะ!

เมื่อปี 2023 นักวิทย์ได้ค้นพบว่า ต้นไม้สามารถพูดคุยกันได้ ซึ่งก็น่าทึ่งมากพอแล้ว แต่ครั้งนี้การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Nature Communications ได้ขยายความจากครั้งที่แล้ว นักวิทย์อยากรู้อีกว่า แล้วพืชมีการตอบรับอย่างไร มันสื่อสารในสถานการณ์แบบไหนบ้าง

พืชสื่อสารเพื่อเตือนภัยกันได้ Cr. Nature Communications

ซึ่งการทดลองนี้จะเน้นไปที่การรับรู้และการระวังตัวเมื่อมีภัยหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว มีการค้นพบว่า “พืชรู้จักการป้องกันตัว” มาตั้งแต่ปี 1980 และพบได้ในพืชมากกว่า 80 สายพันธุ์ ซึ่งก็ได้มีการศึกษากันเรื่อยมา

และการทดสอบครั้งนี้ เป็นของทีมวิจัยชาวญี่ปุ่น ที่ใช้เทคนิคการบันทึกภาพแบบเรียลไทม์เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า พืชมีการตอบสนองต่อสัญญาณเตือนภัยอย่างไร โดยจะใช้ต้นมะเขือเทศและ Arabiodopsis thaliana โดยต้นเหล่านี้จะมีการดัดแปลงพันธุกรรม ให้การสื่อสารของพวกมันสามารถเรืองแสงได้ผ่านกล้อง

การศึกษาพบว่า เซลล์ ไบโอเซนเซอร์ของพวกมันมีการเรืองแสงเป็นสีเขียวเมื่อมีการตรวจพบการไหลเข้ามาของแคลเซียมไอออน ซึ่งการส่งสัญญาณแคลเซียมเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเซลล์มนุษย์ที่ใช้เพื่อการสื่อสารเช่นกัน

พืชสื่อสารเพื่อเตือนภัยกันได้ Cr. Nature Communications

ทีมงานใช้เทคนิคที่คล้ายกันในการวัดสัญญาณแคลเซียมในการศึกษาเมื่อปีที่แล้วของพืช Mimosa pudica ที่เรืองแสง ซึ่งมีการขยับใบอย่างรวดเร็วเมื่อมีการสัมผัส เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่า

ในครั้งนี้ ศัตรูของพืชคือการถูกอาบด้วยสารประกอบระเหยชนิดหนึ่ง ผลคือ พืชจะปล่อยสัญญาณการสื่อสารออกมาภายในไม่กี่วินาทีหลังสัมผัสได้หรือเมื่อเกิดการบาดเจ็บ

ดังที่เห็นในวิดีโอ การเคลื่อนไหวของแสงเหล่านั้น เป็นของพืชเพื่อนบ้านที่ได้รับข้อความจากเพื่อนบ้านที่บาดเจ็บ มันได้รับสัญญาณที่ดังและชัดเจน และตอบสนองด้วยสัญญาณแคลเซียมที่กระเพื่อมไปทั่วใบ

พืชสื่อสารเพื่อเตือนภัยกันได้ Cr. Nature Communications

นักวิทย์ได้ตรวจสอบสารในอากาศขณะนั้น และพบว่า มีสารประกอบ 2 ชนิดที่เรียกว่า Z-3-HAL และ E-2-HAL ซึ่ง 2 สารนี้เองเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสัญญาณแคลเซียมใน Arabidopsis เมื่อพืช Arabdiopsis สัมผัสกับ Z-3-HAL เซลล์ป้องกันของพืชที่อยู่บริเวณปากใบ (ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศของพืช) จะสร้างสัญญาณแคลเซียมขึ้นภายในเวลาประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นเซลล์โซฟิลล์ (เนื้อเยื่อใบไม้ชั้นนอก) ก็จะรับข้อความไปและเริ่มเคลื่อนไหว

ที่มาข้อมูล

Science Alert

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related