svasdssvasds

แรดขาวเหนือมีหวังตั้งท้องเบบี๋แล้ว หลังนักวิจัยทดลองสร้างตัวอ่อนสำเร็จ

แรดขาวเหนือมีหวังตั้งท้องเบบี๋แล้ว หลังนักวิจัยทดลองสร้างตัวอ่อนสำเร็จ

นักวิจัยโครงการ BioRescue ทดลองฝังเอ็มบริโอ้ใส่แรดขาวใต้สำเร็จ เตรียมนำไปปรับใช้กับแรดขาวเหนือ หลังเหลือตัวเมียอยู่แค่สองตัว

หลังจากที่แรดขาวเหนือ (Northern White Rhino) ซึ่งเป็นตัวผู้ตัวสุดท้ายตายไปในปี 2561 ที่ประเทศซูดาน ทำให้หลายคนยอมรับไปกลาย ๆ แล้วว่าแรดขาวเหนือน่าจะถึงคราวสูญพันธุ์ในเร็ววันนี้

แต่ในเมื่อมนุษย์ยังทำเด็กหลอดแก้ว ไฉนสัตว์จะทำบ้างไม่ได้ ทีมนักวิจัยนานาชาติจาก BioRescue ประสบความสำเร็จในการปฏิสนธินอกร่างกาย (In Vitro Fertilization) หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การทำเด็กหลอดแก้ว

Susanne Holtze นักวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ BioRescue กล่าวว่า การย้ายตัวอ่อนในแรดขาวเหนือสำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญ พวกเรามั่นใจมาก ๆ ว่า เราจะสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ของแรดขาวเหนือเอาไว้ได้

ตัวอ่อนจากการฝังเอ็มบริโอ้ในแรดขาวใต้ Cr. BioRescue

ทำไมแรดขาวเหนือเสี่ยงสูญพันธุ์?

เดิมทีแรดขาวเหนือเคยถูกพบทั่วแอฟริกากลาง ทว่าถูกล่าแบบผิดกฎหมาย จากผู้ที่ต้องการนำนอแรดไปเร่ขายในตลาดมืด หรือขายให้กับผู้สะสมของหายาก ทำให้ประชากรแรดขาวเหนือเหลือเพียงหยิบมือ

ในปี 2561 เป็นปีที่ความหวังในการอนุรักษ์แรดสายพันธ์นี้แทบหมดลง เพราะแรดเหนือขาว (ตัวผู้ตัวสุดท้าย) ได้สิ้นใจไปที่ประเทศซูดาน ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้วจะไม่มีลูกแรดเหนือขาวเกิดขึ้นอีก เพราะการผสมพันทางธรรมชาติไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแล้ว

ปัจจุบันแรดขาวเหนือเหลืออยู่กี่ตัว?

ปัจจุบันแรดขาวเหนือตัวเมียเหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้น ชื่อว่า ฟาตู (Fatu) และ นาจิน (Najin) เป็นคู่แม่ลูก ซึ่งได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า “มีลูกยากทั้งคู่” ทำให้สองแม่ลูกคู่นี้ได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด (อาวุธ) ที่ประเทศเคนยา

2 แรดคู่แม่ลูก ฟาตู และ นาจิน Cr. Reuters

นักวิจัยทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จ

อย่างที่กล่าวไปว่า แรดขาวเหนือตัวผู้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว ทีมนักวิจัยจึงมองไปที่แรดขาวใต้ (Southern White Rhino) ซึ่งขณะนี้ยังมีประชากรเหลืออยู่หลายพันตัว

โครงการ BioRescue ใช้เวลาอยู่หลายปีในการคิดหาวิธีเก็บไข่จากแรดที่มีน้ำหนัก 2 ตัน ไปจนถึงการทดลองทำเพราะตัวอ่อนในแล็บ ยังไม่พอต้องหาวิธีฝังตัวอ่อนอีกหนึ่งขยัก

ตัวอ่อนที่ได้จากการฝังเอ็มบริโอ้ Cr. Reuters

การทดลองฝังตัวอ่อนใช้ความพยายามทั้งหมด 13 ครั้ง กว่าจะบรรลุการผสมเทียมในแรดขาวใต้ได้สำเร็จ แต่กระบวนการมันยากพอสมควร เพราะนักวิจัยต้องนำเอ็มบริโอ้ไปวางไว้ที่ระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอยู่ลึกไปในตัวแรดราว 2 เมตร

เมื่อฝังไปได้ราว 70 วัน แรดขาวใต้ตัวเมียนี้ ก็เป็นอันต้องเสียชีวิตไปเพราะติดเชื้อที่หายาก แต่เรื่องร้ายยังมีเรื่องดี นักวิจัยพบว่า เอ็มบริโอ้ที่ฝังเขาไปมีโอกาสรอดถึง 95% ซึ่งรอดสมดังว่า

การฝังเอ็มบริโอ้สำเร็จในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า วิธีการฝังตัวอ่อนนั้นในแรดสำเร็จ นักวิจัยวางแผนในช่วงกลางปี ที่จะทดลองฝังเอ็มบริโอ้ให้กับแรดขาวเหนือสองคู่แม่ลูก เพื่อขยายสายพันธุ์ต่อไป โดยใช้สเปิร์มของตัวผู้ที่ตายไปแล้วในปี 2561

เชื่อว่าอนุรักษ์เมื่อได้เห็นข่าวนี้ต้องปลื้มปริ่มกันเป็นแถว ๆ เพราะในที่สุด ฟาตูและนาจิน จะได้มีเบบี๋กับเขาบ้างเสียที มาเอาใจช่วยให้นักวิจัยฝังเอ็มบริโอ้ให้กับสองแม่ลูกคู่นี้ให้สำเร็จกันนะ 

ขอให้มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง เพี้ยง....

 

ที่มา: BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related