ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) เผยการศึกษาใหม่ ระบุว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงกว่าที่คาดประมาณ 15-50 เมตร
มีใครทราบบ้างว่ายอดเขาเอเวอเรสต์สูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่าไหร่?
เฉลยก็คือยอดเขาเอเวอเรสต์อยู่ที่ระดับความสูง 8,849 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หากนึกภาพไม่ออกว่าสูงแค่ไหน ก็ประมาณ 3 ดอยอินทนนท์ แต่ตอนนี้ยอดเขาเอเวอเรสต์กำลังเพิ่มความสูงขึ้นอีก
จากการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ระบุว่า การสูญเสียมวลดินในลุ่มน้ำอรุณ (Arun) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป 75 กม. ทำให้เอเวอเรสต์มีความสูงเพิ่มขึ้น 2 มม./ปี
สาเหตุที่นักวิจัยมุ่งเป้าไปที่แม่น้ำอรุณเป็นเพราะว่า ชั่วขณะที่แม่น้ำอรุณไหลผ่านเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างนั้นมันจะกัดเซาะวัสดุต่าง ๆ ตามที่แม่น้ำไหลผ่านไป ซึ่งลดกดทับบนชั้นแมนเทิลทำให้เปลือกโลกยืดหยุ่นและลอยสูงขึ้น
“หลักการมันเหมือนกับการโยนสินค้าลงจากเรือ เรือจะเบาขึ้นและลอยสูงขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกันเมื่อเปลือกโลกลอยขึ้น มันก็จะลอยสูงขึ้น” อดัม สมิธ ผู้ร่วมวิจัย กล่าวกับบีบีซี
อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยจาก UCL เปิดเผยว่า แม่น้ำอรุณไหลลงมาจากทิเบตเข้าสู่เนปาล และรวมตัวกับแม่น้ำอีกสองสายกลายเป็นแม่น้ำโกศี ซึ่งไหลเข้าสู่อินเดีย และไปรวมกับแม่น้ำคงคาในที่สุด
จุดเปลี่ยนที่แท้จริงอาจต้องย้อนกลับไปราว 89,000 ปีก่อน ทีมนักวิจัยอธิบายว่า กาลนั้นแม่น้ำอรุณเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำ ซึ่งนี่ถือเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นหากว่ากันด้วยมุมมองของธรณีวิทยา
ไต้ จินเกิน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็ยังมีกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ดำเนินต่อไป ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสูงของยอดเขาได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่ค่อนข้างสั้น”
ขณะที่ ดร.ซู ฮาน จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า "การเปลี่ยนแปลงความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์แสดงถึงลักษณะพื้นผิวโลกที่มีความเคลื่อนไหว "ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการกัดเซาะของแม่น้ำอรุณและแรงดันจากชั้นแมนเทิลของโลกช่วยทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น"
ที่มา: The Guardian, Smithsonianmag
ข่าวที่เกี่ยวข้อง