SHORT CUT
เฉลิมชัย นำทีมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์พะยูน และ หญ้าทะเล พร้อมออกมาตรการป้องกันไม่ให้และฟื้นฟูสุขภาพพะยูน และ แหล่งอาหาร แบบบูรณาการ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยหลักของพะยูนในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน
ส่งผลกระทบทำให้พะยูนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยกำหนด 4 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ประกอบด้วย
1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และ แบบสำรวจการพบเห็นพะยูนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบจำนวน พื้นที่การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสำรวจสุขภาพของพะยูนแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์ หรือ มีอาการป่วย เพื่อหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร
2.หาแนวทางประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ เพื่อป้องกันอันตราย จากการประกอบกิจกรรมในทะเล โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว คาดว่าจะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ
3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร รวมถึงกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และ ดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษโดยเสริมอาหารทดแทนหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรัง และ ภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอกเพื่อดูแลพะยูนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอในธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาและเตรียมความพร้อมของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง และ ศูนย์ช่วยชีวิตสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต
4.เตรียมบ่อกุ้งร้างหรือสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน พร้อมทั้งเร่งศึกษานวัตกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส.พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นจำนวนเงิน 615 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง วันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายเฉลิมชัย ได้ลงพื้นที่มายังโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (เกาะลิบง) อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อพบปะชาวเกาะลิบง และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง รวมทั้งรับฟังรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายากในภาพรวมของประเทศ
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงภาพรวมในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้นและแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมว่า เบื้องต้นกรมทะเลได้ดำเนินการช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต ด้วยวิธีการใช้อาหารเสริมแทนหญ้าทะเล โดยมีการดำเนินงานในพื้นที่สะพานราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต อ่าวตังเข็น ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ด้านหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เกาะลิบง จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และพื้นที่บางขวัญ จ.พังงา
“พร้อมกันนี้ จัดเตรียมคอกอนุบาลในทะเล สำหรับดูแลพะยูนที่ป่วยและไม่แข็งแรง ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลและการดำเนินการในพื้นที่บริเวณเกาะละวะ ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา รวมทั้งบ่อเลี้ยงของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต”
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง ผลจากการสำรวจเบื้องต้นพบพะยูนทั้งสิ้น 58 ตัว ส่วนจังหวัดตรัง รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 5 ตัว
นอกจากนี้ ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เฝ้าระวังพะยูนและคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล 13 แห่ง
จังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ องค์กรภาคเอกชน เครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบต่อพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณช่องปากพระบ้านสารสิน บริเวณอ่าวป่าคลอก อ่าวบางโรง บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ และบริเวณอ่าวตังเข็น