SHORT CUT
แม่น้ำกกซ้ำรอยคลิตี้ : ปัญหาสารพิษจากเหมืองแร่ในลำน้ำยังคงเกิดซ้ำซาก จากกรณีคลิตี้ในอดีตถึงแม่น้ำกกในปัจจุบัน โดยประชาชนต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสารตะกั่วและสารหนู ขณะที่รัฐยังใช้ภาษีประชาชนในการฟื้นฟูปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ
แร่แรร์เอิร์ธทำลายสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ: เหมืองฝั่งเมียนมาที่อยู่ใกล้แม่น้ำกกไม่ใช่แค่เหมืองทอง แต่เป็นเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ซึ่งใช้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก่อให้เกิดมลพิษร้ายแรงทั้งในจีนและเมียนมา เสี่ยงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพคนริมลุ่มน้ำกก
รัฐไทยยังเงียบ แม้ปัญหาใหญ่ระดับข้ามชาติ: แม้จะมีข้อมูลชัดว่าแหล่งเหมืองต้นตออยู่ในเขตอิทธิพลของต่างชาติ แต่รัฐบาลไทยยังไม่เจรจาในระดับรัฐต่อรัฐอย่างจริงจัง ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่นี้เป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมืองผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน
จากคลิตี้สู่แม่น้ำกก : ทุนเหมืองแร่ทำผิด แต่คนท้องถิ่นรับเคราะห์ เมื่อประชาชนริมแม่น้ำรับสารพิษเพราะแร่หายากที่ทั้งโลกอยากได้ แต่รัฐบาลไทยนิ่งเฉย
สถานการณ์สารพิษในแม่น้ำกกเลวร้ายขึ้นทุกวัน เลวร้ายกว่าสารพิษที่ยังไม่หายไป คือท่าทีของรัฐบาลที่ยังคง “ไม่สนใจ” ไม่แก้ปัญหานี้ในระดับ “รัฐต่อรัฐ” เสียที ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่ เชียงใหม่-เชียงราย เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของนักการเมืองที่มีอำนาจในปัจจุบัน
เหนือแม่น้ำกกในฝั่งเมียนมา “ไม่ได้มีแค่เหมืองทอง” ตามที่เราเข้าใจในตอนแรก ล่าสุดมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) เปิดเผยว่า เหมืองดังกล่าวมีลักษณะเป็น “เหมืองขุดแร่แรร์เอิร์ธ” แร่หายากส่วนผสมสำคัญของแบตเตอร์รี่ ชิปประมวลผล AI และเทคโนโลยีในยุคนี้ — แร่ธาตุสำคัญในตลาดโลกปัจจุบัน ห่างแม่น้ำกกไม่ถึง 3 กิโลเมตร การทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม มีบทเรียนให้เห็นแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งครอบครองแร่นี้กว่า 61% ของทั้งโลก
ตั้งแต่ปี 2518 โรงแต่งแร่ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าประกอบกิจการที่ริมห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนชุมชนคลิตี้ล่างมาอย่างยาวนาน
พยักฆ์ร้ายหลับสนิทอยู่ในดิน และสะสมในร่างกายประชาชนอย่างช้าๆโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งในปี 2541 หรืออีก 23 ปีต่อมา มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานว่า ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยคล้ายๆกัน เช่น ถ่ายท้อง ปวดหัว ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท หญิงตั้งครรภ์แท้งบุตร ทารกเกิดใหม่บางรายมีความผิดปกติด้านร่างกายและสมอง หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต เช่นเดียวกับสัตว์ในลำน้ำ และสัตว์ที่บริโภคน้ำจากลำห้วยคลิตี้
ปี 2545 สาธารณสุขจังหวัดประกาศห้ามใช้น้ำในลำห้วย เพราะมีค่า “ตะกั่ว” ปนเปื้อนอย่างเข้มข้น
ปี 2558 ชาวบ้านยื่นฟ้องต่อบริษัทเหมืองและกรมควบคุมมลพิษฐานไม่ระงับการปนเปื้อนของสารพิษ
จนกระทั่งปี 2560 ชาวบ้านชนะคดี ศาลสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเยียวยาและฟื้นฟูจนไม่พบคราบตะกั่วในดิน น้ำ พืชผัก และสัตว์น้ำ เกินมาตรฐานอีก และบริษัทเอกชนเจ้าของเหมืองต้องเยียวยาชาวบ้านกว่า 150 คน
รัฐตั้งงบประมาณให้เอกชนเข้ามาดูด “สารตะกั่ว” ออกจากลำน้ำ แต่ผ่านมากว่า 8 ปี ล่าสุดเมื่อต้นปี 2567 ยังมีรายงานว่า พบค่าปนเปื้อนของตะกั่วไม่ลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกาดหางแร่ตะกอนในลำห้วย ตะกอนขอบลำห้วย และบนตลิ่ง ยังปนเปื้อนสูง ทั้งที่ใช้งบประมาณไปกว่า 800 ล้านบาทในการฟื้นฟู(แต่ไม่ได้ผล)
ประชาชนเสียชีวิต เสียเวลา เสียโอกาส และเสียเงินภาษีให้รัฐนำมาฟื้นฟู “ปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ”
ทั้งในกรณีคลิตี้ และกรณีแม่น้ำกก ปัญหาที่เหมือนกันคือ "ทุนเหมืองแร่ทำผิด แต่คนท้องถิ่นกลับต้องรับเคราะห์"
แต่สิ่งที่ต่างคือ ขนาดของปัญหาในแม่น้ำกกใหญ่กว่ามาก เป็นลำน้ำระหว่างประเทศ ปนเปื้อน “สารหนู” สารตั้งต้นของโรคมะเร็ง ยาวหลายร้อยกิโลเมตร เชื่อมไปถึงแม่น้ำโขง กระทบหลายจังหวัด และหลายประเทศ
และซับซ้อนมากขึ้นอีก เมื่อเหมืองต้นน้ำไม่ได้เป็นแค่เหมืองทอง แต่เป็นเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ แร่หายากระดับโลกที่ใครๆก็อยากครอบครอง แร่ที่ทำให้ “จีน” ก้าวมาเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 แร่ที่กำลังจะล้มแชมป์ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ และเป็น “แร่” ที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก เพราะมีบทเรียนมาแล้วจากเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในจีนและเมียนมา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมแม่น้ำกก จึงจะใหญ่มากสำหรับประชาชนในพื้นที่ และแก้ยากมากที่สุดถ้าไทย ยังต้อง “เกรงใจ” ชาติมหาอำนาจเจ้าของทุนขุดเหมือง และมีสมการการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
รัฐบาลไทยจะเลือกเงียบเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้า หรือเลือกปกป้องชีวิตประชาชนในประเทศตัวเอง? เมื่อไรกันที่จะหันกลับมามองปัญหาคนลุ่มน้ำกก คนเชียงใหม่เชียงราย ที่ไม่เคยทิ้งนักการเมืองแกนนำรัฐบาลชุดนี้ไปไหนเลย