SHORT CUT
ผู้เชี่ยวชาญ แนะ‘รอยเลื่อน’ ที่มองไม่เห็นในไทยยังมี และต้องเฝ้าระวัง พร้อมแนะสำรวจรอยเลื่อนนครนายก-ลำตะคอง กันไว้ดีกว่าแก้!
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น เมื่อ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.4 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางลึก 19 เมตร นอกชายฝั่งหมู่เกาะโทคาระ จังหวัดคาโกชิมะ โดยมีระดับความรุนแรงตามมาตรวัดญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 5+ แม้ว่าจะไม่มีคลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ได้เรียกร้องให้มีการระมัดระวังแผ่นดินไหวที่อาจมีความรุนแรงระดับ 6- ส่วนในประเทศไทยก็มีเหตุการณ์สดๆร้อนๆ เมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา
แผ่นดินไหวในไทยที่ผ่านมานับได้ว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง แต่นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ก็ได้ออกมาเตือน และถอดบทเรียนว่า จากนี้ไปไทยจะต้องไม่ประมาทต้องมีแผนรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ทัน รวมถึงระบบการเตือนภัยที่ดีกว่านี้ อีกทั้งยังต้องเร่งสำรวจรอยเลื่อนใหม่ๆ ที่ยังจะทรงพลังได้ในอนาคต รวมถึงรอยเลื่อน ที่มองไม่เห็นในไทยยังมี นอกเหนือจาก 16 รอยเลื่อนเดิม และมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน
#SPRiNG มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในงาน เสวนาวิชาการ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ: อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโดย กรมทรัพยากรธรณี ในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาทำให้ไทยต้องเร่งนำข้อมูลที่ได้มาทำการบ้านรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต ให้รอบคอบมากขึ้น
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง คือ เรื่องรอยเลื่อนในประเทศไทยที่มีอยู่ 16 รอยเลื่อน โดยมองว่าที่ผ่านมาไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนเหล่านี้น้อยมาก จากนี้ไปจำเป็นต้องส่งนักธรณีวิทยาที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปไปศึกษารอยเลื่อนต่างๆให้มากกว่านี้ หาประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต การศึกษาจะทำให้เข้าใจประวัติรอยเลื่อนดีขึ้น ทำให้รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มากี่ครั้ง ตำแหน่งไหนบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการปรับปรุงประเมินความเสี่ยงแผ่นดินไหวได้ชัดเจนมากขึ้น
หากทำเช่นนั้นได้จะเป็นการเตรียมความพร้อมได้ดีมากขึ้น ซึ่งแผนงานทั้งหมดจะต้องมีการทุ่มงบประมาณเพิ่มในการสำรวจรอยเลื่อนต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมางบประมาณในด้านนี้ถูกตัดมาโดยตลอด ทำให้ไทยไม่ได้มีความรู้ใหม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
ส่วนตัวมองว่างบการศึกษารอยเลื่อนไม่ใช่งบประมาณที่มากมายอะไร ระดับต่ำก็ไม่กี่ล้านบาทต่อปี และไม่ควรทำแบบทีเดียว จะต้องเป็นการศึกษาไปเรื่อย ๆอย่างต่อเนื่อง หากไทยทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆภายใน 10 ปี จากนี้ไปความารู้ใหม่จะมีมากขึ้นแน่นอน จะสามารถเตรียมรับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ในอนาคต
ที่สำคัญต้องเร่งสำรวจ และเฝ้าระวังหลายเมืองอยู่ไม่ไกลจากรอยเลื่อน และไทยยังมีรายเลื่อนอีกบางส่วนที่เป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นดิน ทำให้มองไม่เห็น ยกตัวอย่างที่เชียงใหม่ รอยเลื่อนที่มองเห็นมีรอยหนึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 30 กิโลเมตร แต่ข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวกับพบแผ่นดินไหวเล็กเรียงตัวอยู่ใกล้กว่านั้น อยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่แค่ 10 กิโลเมตร จึงทำให้คิดว่าน่าจะมีรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ตรงนั้น จุดเหล่านี้จะมีผลต่อการประเมินความเสี่ยงทั้งนั้น
นอกจากนี้ยังคงต้องเร่งสำรวจ และเฝ้าระวัง เตรียมแผนรับมือกับรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กทม. อย่าง รอยเลื่อนนครนายก-ลำตะคอง เพราะไม่แน่ว่าในอดีตรอยเลื่อนเหล่านี้อาจกลับมามีพลังงาน เพราะหากเกิดแผ่นดินไหว นั่นหมายความว่าศูนย์การเกิดจะอยู่ใกล้พื้นที่เมืองหลวงของไทยอย่างมาก ดังนั้นควรสำรวจรอยดังกล่าวให้กระจ่างชัดกว่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขปริศนา ทำไมคนถึงกลัว คำทำนาย "แผ่นดินไหวญี่ปุ่น" ของนักเขียนการ์ตูนดัง
ชาวเกาะญี่ปุ่นผวาหนัก หลังเกิดแผ่นดินไหว 900 ครั้งใน 2 สัปดาห์
"แผ่นดินไหวเชียงใหม่" ขนาด 4.5 ลึก 1 กม. รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่