เจอสารหนูเกินค่ามาตรฐานในเด็ก 2 คน สืบประวัติพบเด็กชอบกินปลาที่มาจากแม่น้ำกกเป็นประจำ สส.เชียงใหม่และผู้เชี่ยวชาญจี้รัฐไม่ควรปิดบังเรื่องนี้ หลังทราบว่าอำเภอไม่ให้เผยแพร่ข้อมูล
7 ก.ค. 68 สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า มีแหล่งข่าวจากอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ ได้รับผลตรวจค่าตรวจโลหะหนักของชาวบ้าน 4 รายในหมู่บ้านแก่งทรายมูล ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกที่อยู่ต้นแม่น้ำกกซึ่งไหลมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาเข้ามายังฝั่งไทย
หลังจากมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ผลปรากฎว่ามีเด็ก 2 คน อายุ 2 ขวบ และ 6 ขวบ มีค่าสารหนูในร่างกายมากผิดปกติ โดยจากการตรวจสอบพบว่า เด็กทั้ง 2 มักกินปลาจากแม่น้ำกกอยู่เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวยังเผยอีกว่า จริง ๆ แล้ว ผลตรวจพบค่าสารหนูในเด็กทั้ง 2 ออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ทางสสจ.ไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องนี้ และได้มีการประสานมายังอำเภอแม่อาย ซึ่งทางอำเภอได้แจ้งผู้ใหญ่บ้านแก่งทรายมูล เพื่อต้องการทราบรายละเอียดของเด็กทั้งสองเพิ่มเติม ซึ่งผู้มีอำนาจระดับจังหวัดได้กำชับไปที่อำเภอแม่อาย เพื่อกำชับไปยังหมู่บ้านว่า “ห้ามผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เผยแพร่ข้อมูลนี้ให้ผู้สื่อข่าวทราบ” โดยอ้างว่าจะทำให้ชาวบ้านแตกตื่นตกใจ
แหล่งข่าวมองว่า จริง ๆ แล้วสารโลหะหนักในแม่น้ำกก นอกจากสารหนูที่เกินค่ามาตรฐานแล้ว ยังพบสารตะกั่วและแมงกานีสเกินค่ามาตรฐานด้วย แต่ที่ผ่านมา การตรวจผลเน้นไปที่สารหนูเพียงอย่างเดียว เช่นกัน การนำปัสสาวะไปตรวจ ก็เน้นตรวจที่สารหนูเป็นสำคัญ ดังนั้น หากต้องการตรวจตะกั่วและแมงกานีส ทางสสจ.ควรนำเลือดชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงไปตรวจด้วย
“ตอนนี้ทั้งผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรท้องถิ่นต่างรู้สึกเครียดเพราะถูกกดดันจากทั้งจังหวัดและอำเภอ เพื่อพยายามทำให้ผลกระทบต่างๆจากสารพิษในแม่น้ำกกเป็นเรื่องเล็ก ทั้งๆที่ส่งผลใหญ่หลวงกับชาวบ้าน ทั้งเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ เรื่องอาหารการกิน การปลูกพืชเกษตรกรรมต่างๆ ต่างมีปัญหาหมด แต่ทางการไม่มีแผนเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกอึดอัดมาก ตอนนี้ขนาดจะออกไปเดินประท้วงก็ทำเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ทางการสั่งห้ามหมด”แหล่งข่าว กล่าว
นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน กล่าวว่า ได้ทราบเรื่องเบื้องต้นจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการตรวจพบสารหนูในเด็ก 2 คนมากผิดปกติ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าสูงระดับไหน แต่ตนมองว่า เรื่องนี้ไม่ควรมีการปกปิดข้อมูล ควรรีบแจ้งประชาชนทราบเพื่อจะได้ป้องกันตัวเองและรับมือกับสถานการณ์ได้
รัฐควรวางแผนตรวจสุขภาพประชาชนตลอดริมแม่น้ำกกทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ พร้อมทั้งหามาตรการแก้ไขและเยียวยา และนอกจากสารหนูแล้ว ควรตรวจสารโลหะหนักตัวอื่น ๆ ด้วยหรือไม่
นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 68 ที่ชาวบ้านร้องเรียนให้มีการตรวจสอบแม่น้ำกก จนพบว่าสารโลหะหนักมาจากการทำเหมืองในรัฐฉาน จนถึงวันนี้ผ่านไปราว ๆ 3 เดือน กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ และรัฐบาลทำได้เพียงรายงานผลตรวจต่าง ๆ แต่ไม่มีแนวทางยุติปัญหาหรือการเยียวยาชาวบ้าน
นายสมดุลย์ ยังกล่าวด้วยว่า จริง ๆ แล้วพื้นที่ริมน้ำกก ควรมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติด้วยซ้ำ เพื่อที่ประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือ แต่ทางจังหวัดไม่ได้ดำเนินการ รัฐบาลควรชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
“ทุกวันนี้ ชาวบ้านท่าตอนใช้น้ำจากแม่น้ำกกไม่ได้ แม้ว่ามีบ่อบาดาล 146 บ่อ ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจ เพราะแม้บางหน่วยงานเข้าไปตรวจแล้ว ก็แจ้งว่ายังใช้น้ำได้ แต่บ่อบาดาลหลายแห่งเป็นบาดาลตื้น ทีความเสี่ยงที่น้ำกกจะไหลเข้า ดังนั้น รัฐต้องหาวิธีบำบัดน้ำให้ชาวบ้านเพื่อให้มั่นใจในการใช้น้ำ”
ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า การตรวจพบสารหนูเกินมาตรฐานในคน หมายความว่า สารโลหะหนักชนิดนี้ได้เข้าสู่คนแล้ว มากน้อยแค่ไหนต้องรอผลการตรวจ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ควรปกปิด การอ้างว่ากลัวชาวบ้านจะตื่นตระหนก นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ดี ชาวบ้านควรได้รับรู้เพื่อจะได้จัดการกับชีวิตเขา ไม่ว่าจะป้องกันหรือแก้ไข
“หน่วยงานราชการควรเร่งรัดทำแผนรับมือความเสี่ยงในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านเกษตรกรรม ด้านประมง เพื่อที่จะได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป ไม่ใช่คอยแต่ปกปิดข้อมูลเพราะถูกกดดันมาจากฝ่ายการเมืองที่กำลังสั่นคลอน”ผศ.ดร.เสถียร กล่าว
ที่มาข้อมูล