svasdssvasds

การปิดตายแหล่งกำจัดขยะพิษของฝรั่งเศส อาจคุกคามแหล่งน้ำยุโรป

การปิดตายแหล่งกำจัดขยะพิษของฝรั่งเศส อาจคุกคามแหล่งน้ำยุโรป

ฝรั่งเศสอาจปิดตายแหล่งกำจัดขยะพิษที่โครงสร้างอุโมงค์กำลังพังทลาย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้เชี่ยวชาญที่กังวลถึงผลกระทบต่อแหล่งน้ำของยุโรป

เป็นเวลากว่า 25 ปีแล้วที่ "ขยะพิษ" หลายพันตันถูกฝังอยู่ใต้เมืองอุตสาหกรรมเก่าแห่งหนึ่งของวิทเทลส์ไฮม์ในแคว้นอาลซัสทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณขยะมากถึงราว 42,000 ตัน ถูกฝังอยู่ในอุโมงค์เหมืองใต้ดินลึกลงไป 500 เมตร 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน  ศาลเมืองสตราสบูร์กได้ตัดสินว่า พวกเขาไม่สามารถกำจัดขยะพิษออกจากสถานที่ดังกล่าวอย่างปลอดภัย เนื่องจากความเสี่ยงจากการเสื่อมสภาพที่จะทำให้เกิดการพังทลายของสถานที่ และก่อให้เกิดอันตรายได้ ทั้งยังคาดว่าสถานที่ดังกล่าวจะอยู่ในสภาพที่สามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยไม่เกิน 3 ปี หลังจากนี้เท่านั้น

การปิดตายแหล่งกำจัดขยะพิษของฝรั่งเศส อาจคุกคามแหล่งน้ำยุโรป

หลังจากพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดในแง่ของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ทางการจึงสั่งให้ปิดผนึกอุโมงค์ขยะดังกล่าวอย่างถาวร และเสริมการปิดกั้นด้วยผนังคอนกรีตหนาเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพิษรั่วไหลออกมา 

แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์เกรงว่า ขยะพิษอาจมีความเสี่ยงที่จะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินของแคว้นอาลซัส ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำใต้ดินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และหากน้ำซึมเข้าไปในพื้นที่ทำเหมือง มลพิษในรูปแบบของกลุ่มสารปนเปื้อนนี้อาจลามเข้าไปในระดับน้ำใต้ดินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร

มาร์กอส บูเซอร์ นักธรณีวิทยาซึ่งได้รับมอบหมายให้ศึกษาผลกระทบของการจัดเก็บขยะพิษในเหมือง กล่าวว่า หากตัดสินใจปิดตายอุโมงค์ ขยะพิษเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่คนรุ่นหลังก่นด่าไปอีก 20-50 ปี เพราะตอนนี้ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะกำจัดสารเคมีเหล่านี้ออกไป 

ด้านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ต่อต้านการปิดผนึกขยะพิษกล่าวเตือนด้วยว่า ผลกระทบในระยะยาวของการกักเก็บขยะไว้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบคุณภาพน้ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาค ทั้งยังกระทบต่อผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์เยอรมนีและอีกหลายล้านคนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรน้ำบาดาลนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทที่ดูแลเหมืองยืนยันว่า อุโมงค์แห่งนี้ต้องรองรับการทำกิจกรรมของเหมืองอย่างต่อเนื่องจะทำให้หลายส่วนของอุโมงค่อยๆ พังทลายลง ทำให้ไม่มีช่องทางที่ปลอดภัยในการกำจัดของเสียออกไปได้ จึงสนับสนุนให้ปิดผนึกขยะพิษดังกล่าวอย่างถาวร