svasdssvasds

ถอดรหัสความยั่งยืน ผ่านทัศนะ "สุวรรณี สิงห์ฤาเดช" ซีอีโอซีเมนส์ ประเทศไทย

ถอดรหัสความยั่งยืน ผ่านทัศนะ "สุวรรณี สิงห์ฤาเดช" ซีอีโอซีเมนส์ ประเทศไทย

ถอดแนวคิด "สุวรรณี สิงห์ฤาเดช" ซีอีโอหญิงเก่งแห่ง "ซีเมนส์ ประเทศไทย" กับการบริหารธุรกิจบนรหัส "ความยั่งยืน" ปักธงชู 6 ยุทธศาสตร์ตามกรอบ DEGREE พาองค์กร และลูกค้ายั่งยืนไปด้วยกัน

ประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ใช่แค่เทรนด์โลก แต่กลายเป็น "กติกาสากล" ที่ทุกวงการต่างให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกจากกิจกรรมต่างๆ แต่การที่องค์กรจะยั่งยืนหรือช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและโลกใบนี้ ยังรวมไปถึงการแก้ปัญหาหรือลดผลกระทบเรื่องอื่นๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งรวมไปถึงมิติทางสังคม และเศรษฐกิจด้วย

ซีเมนส์ (Siemens AG) บริษัทเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน จากประเทศเยอรมนี ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแถวหน้าของโลกที่ฝัง DNA "ความยั่งยืน" เป็นวาระหลักขององค์กร และเมื่อมองเจาะมาที่ประเทศไทย "สุวรรณี สิงห์ฤาเดช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะซีอีโอคนไทยคนแรก มุ่งมั่นนำทัพผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลักขององค์กร โดยพร้อมสนับสนุนลูกค้าและคู่ค้า สู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน

สุวรรณี เริ่มต้นเล่าว่า ซีเมนส์ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมานานแล้ว โดยเข้าร่วม UN Global Compact ตั้งแต่ปี 2003 จากนั้นก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง และหากกล่าวถึงความยั่งยืน ไม่เพียงเป็น “เรื่องด่วน” ที่ทุกคนบนโลกต้องช่วยกันเท่านั้น แต่สำหรับองค์กร ยังถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญอันดับต้นๆ เห็นได้จากเทคโนโลยีและกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ถูกพัฒนาโดยมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

"ความยั่งยืนคือการดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต แต่ในระดับองค์กร ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีท่ามกลางสภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบในมิติต่างๆ จากการดำเนินงานต่อสังคม ประเทศ และโลกใบนี้ คำถามคือ องค์กรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เพื่อดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง และผู้นำองค์กรจะพัฒนาขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ซึ่งเราต้องให้ความหมายของคำว่าความยั่งยืนอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน" สุวรรณี กล่าว

สำหรับความยั่งยืนในแบบซีเมนส์ "สุวรรณี" บอกว่า แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. ความยั่งยืนในองค์กร

2. การช่วยให้ลูกค้ายั่งยืนยิ่งขึ้น

สำหรับความยั่งยืนในส่วนแรกนั้น บริษัทฯ มุ่งบรรลุเป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีการกำหนดในกลยุทธ์ขององค์กรลงไปถึงระดับผลิตภัณฑ์ เกี่ยวเนื่องไปยังภาคส่วนในองค์กร รวมถึงกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินงานประจำวัน เรียกได้ว่าอยู่ใน DNA ของบริษัทฯ

อีกส่วนคือ การช่วยให้ลูกค้ายั่งยืน ซึ่งซีเมนส์ได้ให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากนวัตกรรมของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ

ถอดรหัสความยั่งยืน ผ่านทัศนะ \"สุวรรณี สิงห์ฤาเดช\" ซีอีโอซีเมนส์ ประเทศไทย

"ยกตัวอย่างเรื่องพลังงาน ปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นและการผลิตไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมเทคโนโลยีวันนี้สามารถรวมเอาพลังงานที่กำเนิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

หรือโซลูชันที่เรากำลังจะนำมาจัดแสดงในเดือนมิถุนายนนี้ที่งาน ProPak Asia 2023 เรื่องการทำการเกษตรแนวตั้งในร่ม สามารถประหยัดการใช้น้ำได้ถึง 95% ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง มีผลิตผลมากขึ้นได้ถึง 300 เท่าเทียบกับการปลูกแบบปกติ อีกทั้งยังช่วยลดขยะที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อเร่งสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีงบประมาณ 2565 ผลิตภัณฑ์และโซลูชันของเราช่วยให้ลูกค้าหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 150 ล้านตัน" สุวรรณี กล่าวเพิ่มเติม

ถอดรหัสความยั่งยืน ผ่านทัศนะ \"สุวรรณี สิงห์ฤาเดช\" ซีอีโอซีเมนส์ ประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น "สุวรรณี" เผยต่อไปว่า ในปี 2021 "ซีเมนส์" ได้กําหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ไว้ในกรอบกลยุทธ์เฟรมเวิร์ก "DEGREE" ซึ่งดำเนินการใน 6 ด้าน คือ การลดปริมาณคาร์บอน จริยธรรม บรรษัทภิบาล การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความเสมอภาค และการจ้างงาน โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • D - Decarbonization : สนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยตั้งเป้า Net Zero จากการปฏิบัติการในองค์กรภายในปี 2030 และ Net Zero จาก Supply Chain ภายในปี 2050
  • E - Ethics : นอกเหนือจากการปฎิบัติตามกฏหมาย เราเชื่อว่าจริยธรรมและการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบคือพื้นฐานของกธุรกิจที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายในการฝึกอบรม #TeamSiemens ทุกคน (มากกว่า 300,000 คน) ทุกสามปี เกี่ยวกับจุดยืนทางจริยธรรมที่ยึดมั่นในการทำธุรกิจจาก Siemens Business Conduct Guidelines ซึ่งหัวข้อนี้ยังรวมไปถึงจริยธรรมในการใช้และจัดการข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • G - Governance : มุ่งหมายที่จะนำระบบที่ทันสมัยที่สุดมาใช้สำหรับการกำกับกิจการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ เช่น การเลือกคู่ค้าจาก ESG commitment หรือ การปฎิบัติตาม Supplier Code of Conduct
  • R - Resource Efficiency : การใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ให้ได้ผลมากขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราทั้งหมด 100% แบบ Eco-Design ภายในปี 2030
  • E- Equity : ตั้งเป้าหมายในด้าน Diversity, Equity and Inclusion เพื่อให้องค์กรของเรามีความหลากหลาย สนับสนุนความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม หัวข้อนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาสังคมและชุมชนที่เรามีธุรกิจอยู่
  • E- Employability : มุ่งมั่น Upskill และ Reskill บุคลากรให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยในปีงบประมาณ 2565 ซีเมนส์ลงทุน 280 ล้านยูโร เพื่อเพิ่มพูนความรู้และฝึกอบรมพนักงานของบริษัทฯ

ทั้ง 6 หัวข้อในข้างต้น ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกมิติ และทุกหัวข้อมีการตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้อย่างชัดเจน มีเวลากำหนดไว้แน่นอน โดยมีการรายงานผลความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสใน Sustainability Report ต่อเนื่องประจำทุกปี สามารถอ่าน Siemens Sustainability Report ประจำปีงบประมาณ 2022 ได้ โดย คลิกที่นี่

สำหรับ "ซีเมนส์" (Siemens AG) ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 175 ปี ปัจจุบันเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และด้านเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของโลก ธุรกิจของบริษัทฯ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการทรัพยากรในโรงงาน ระบบอาคารอัจฉริยะและระบบโครงข่ายไฟฟ้า การบริหารห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และระบบการคมนาคมขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด โดยในปีงบประมาณที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 มีพนักงาน 311,000 คนทั่วโลก รายได้ 72 พันล้านยูโร และมีผลกำไรอยู่ที่ 4.4 พันล้านยูโร