svasdssvasds

เรื่องราวของ “ศิขัณทิน” LGBTQ ใน "มหาภารตะ"

เรื่องราวของ “ศิขัณทิน” LGBTQ ใน "มหาภารตะ"

เรื่องราวของ “ศิขัณทิน” ตัวละคร LGBTQ ในมหากาพย์ “มหาภารตะ” ที่ร่วมทำศึกสงคราม “เการพ VS ปาณฑพ” ณ ทุ่งกุรุเกษตร

"มหาภารตะ" คือมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย เล่าเรื่องราวการทำสงครามระหว่าง “พี่น้องเการพ” กับ “พี่น้องปาณฑพ” แห่งกรุงหัสตินาปุระ ณ ทุ่งกุรุเกษตร แต่ก่อนสงครามจะเกิดขึ้นก็มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยในมหากาพย์ดังกล่าว ก็มีตัวละคร LGBTQ ร่วมอยู่ด้วย นั่นก็คือ “ศิขัณทิน” (เจ้าหญิงอัมพา) หนึ่งในนักรบที่อยู่กับฝ่าย “พี่น้องปาณฑพ”

ส่วนอีกตัวละครหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “ภีษมะ” แห่งกรุงหัสตินาปุระ โดยมีศักดิ์เป็นปู่ของทั้ง “พี่น้องเการพ” กับ “พี่น้องปาณฑพ” และแม้ใจจะเอนเอียงเข้าข้าง “พี่น้องปาณฑพ” ที่ถูก “ฝ่ายเการพ” รังแกและกระทำย่ำยีก่อน แต่ด้วยคำว่า “หน้าที่” ทำให้เขาต้องอยู่ฝ่าย “เการพ” ในการทำศึกสงคราม

โดย “ภีษมะ” เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ “เจ้าหญิงอัมพา” ต้องกลายมาเป็น “ศิขัณทิน” ในเวลาต่อมา ส่วนเรื่องราวจะเป็นเช่นไร SPRiNG ขอเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

ตามตำนานเล่าว่า “พระพิฆเนศ” ได้ทำหน้าที่อาลักษณ์เขียนเรียบเรียง “มหาภารตะ” ขึ้นมา ตามคำบอกเล่าของ ฤาษีวยาส

ปมแค้น เจ้าหญิงอัมพา VS ภีษมะ

“ภีษมะ” เป็นบุตรของ “เจ้าแม่คงคา” กับ “ท้าวศานตนุ” กษัตริย์แห่ง “กรุงหัสตินาปุระ” โดยช่วงวัยหนุ่มเขาได้ให้สัจจะวาจาว่าจะไม่ขึ้นเป็น “กษัตริย์กรุงหัสตินาปุระ” และจะไม่แต่งงานตลอดชีวิต เพื่อให้ “พระนางสัตยวตี” ผู้เป็นแม่เลี้ยง สบายใจได้ว่า บุตรของพระนางเท่านั้นที่จะมีสิทธิในราชสมบัติ

และด้วยความซาบซึ้ง “ท้าวศานตนุ” จึงประทานพรให้แก่ “ภีษมะ” จะไม่มีใครสังหารเขาได้ นอกจากเขาต้องการสิ้นชีพเอง  

ต่อมา “พระนางสัตยวตี” ได้ให้กำเนิดบุตรชาย คือ “จิตรางคทะ” และ “วิจิตรวีรยะ” โดย “จิตรางคทะ” เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ ส่วน "วิจิตรวีรยะ" ร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก เมื่อเติบใหญ่ถึงวัยมีคู่ครอง “ภีษมะ” ในฐานะพี่ชายต่างมารดา จึงเป็นธุระจัดการให้

เรื่องราวของ “ศิขัณทิน” LGBTQ ใน "มหาภารตะ"

โดย “ภีษมะ” ได้เดินทางไปสู่ขอ 3 เจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี ได้แก่ "เจ้าหญิงอัมพา" , "เจ้าหญิงอัมพิกา" และ "เจ้าหญิงอัมพาลิกา" มาเป็นคู่ครองกับน้องชายของตน แต่เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล จึงได้เปิดศึกชิงตัว หลังจากได้รับชัยชนะ “ภีษมะ” ก็นำทั้งสามกลับ “กรุงหัสตินาปุระ”

แต่ “เจ้าหญิงอัมพา” ธิดาองค์โตแห่งแคว้นกาสี ได้วิงวอนขอให้ “ภีษมะ” ปล่อยตัวเธอ เนื่องจากเธอมีคนรักอยู่แล้ว นั่นก็คือ “ท้าวศัลวะ” ที่พ่ายแพ้ “ภีษมะ” ในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัว ซึ่ง “ภีษมะ” ก็ยินยอมปล่อยให้เธอกลับไปหาชายผู้เป็นที่รัก

แต่เมื่อ “เจ้าหญิงอัมพา” ได้ไปหา “ท้าวศัลวะ” กลับถูกปฏิเสธ ไม่ยอมรับเธอเป็นชายา ทำให้ “เจ้าหญิงอัมพา” ต้องกลับไปหา “ภีษมะ” และขอให้เขารับผิดชอบกับชีวิตของเธอที่พังป่นปี้ โดยเขาต้องรับเธอเป็นชายา เพราะ “ภีษมะ” เป็นต้นเหตุทำให้เธอถูก “ท้าวศัลวะ” ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

แต่ด้วยสัจจะที่ “ภีษมะ” ได้ลั่นเอาไว้ ทำให้เขาไม่สามารถรับ “เจ้าหญิงอัมพา” เป็นชายาได้ ทำให้เธอโกรธแค้นเป็นอย่างมาก ก่อนออกเดินทางตามหาผู้กล้าทั่วแผ่นดิน ให้มาฆ่า “ภีษมะ” ที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสภาพอัปยศอดสู แต่ก็ไม่ใครสามารถเอาชนะ “ภีษมะ” ได้ และหลายคนก็ปฏิเสธที่จะทำตามคำวิงวอนร้องขอของเธอ “เจ้าหญิงอัมพา” จึงบำเพ็ญตบะอย่างหนัก และขอพรจาก “พระศิวะ” ให้สามารถฆ่า “ภีษมะ” ได้

โดยในฉบับแปลและเรียบเรียงของ กรุณา - เรืองอุไร กุศลาสัย (มหาภารตยุทธ) ได้ระบุเพียงแค่ว่า หลังจาก “เจ้าหญิงอัมพา” สิ้นชีพไปแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นบุตรของ "ท้าวทุรปัท" โดยมีชื่อว่า "ศิขัณทิน" เมื่อเติบโตขึ้น ผู้แปลฯ ก็ได้ใช้คำที่มีความหมายว่า “มีลักษณะเป็นบุคคลสองเพศ”

แต่ก็มีบางเวอร์ชั่นที่เล่าว่า หลังจากเธอได้รับพรจาก “พระศิวะ” ให้สามารถฆ่า “ภีษมะ” ได้ “เจ้าหญิงอัมพา” ก็กระโดดเข้ากองเพลิงจนสิ้นชีพ และก็ไปเกิดเป็นธิดาของ “ท้าวทรุปัท”  

เรื่องราวของ “ศิขัณทิน” LGBTQ ใน "มหาภารตะ"

เมื่อเติบโตขึ้นเธอก็ระลึกชาติได้ว่า เคยถูก “ภีษมะ” ทำลายชีวิตจนป่นปี้ “ศิขัณทิน” จึงออกเดินทางบำเพ็ญตบะ และได้มีโอกาสเจอยักษ์ตนหนึ่ง เธอจึงขอแลกเพศกับยักษ์ ให้ตัวเองได้กลายเป็นชาย เพื่อเข้าสู่ “สงครามเการพ VS ปาณฑพ” โดยมีเป้าหมายสังหาร “ภีษมะ” ล้างปมแค้นให้จงได้

วาระสุดท้ายของ "ภีษมะ"

ในการทำศึกครั้งดังกล่าว “พระกฤษณะ” ผู้รับหน้าที่ “สารถี” ของ “อรชุน” แม่ทัพฝ่าย “พี่น้องปาณฑพ” ก็ล่วงรู้ว่า “ศิขัณทิน” ได้รับพรวิเศษให้สามารถสังหาร “ภีษมะ” ได้ จึงวางแผนให้  “ศิขัณทิน” นำหน้า “อรชุน” ออกรบ ส่วน “ภีษมะ” ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าปะทะด้วย เปิดโอกาสให้ “อรชุน” สามารถใช้อาวุธได้อย่างเต็มที่ชนิดจัดหนักจัดเต็ม ในขณะที่ “ภีษมะ” เลือกที่จะปัดป้อง ไม่ออกอาวุธตอบโต้แต่อย่างใด  

กระทั่งอรชุนได้จังหวะใช้สุดยอดเคล็ดวิชาธนูที่ได้ร่ำเรียนมา ยิงใส่ “ภีษมะ” จนร่างเต็มไปด้วยลูกศร ตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า กลายเป็นเตียงลูกศรที่ค้ำยันร่าง “ภีษมะ” ให้อยู่เหนือพื้นดิน  

เมื่อนักรบทั้ง 2 ฝ่ายเห็นดังนั้นก็เข้าไปห้อมล้อม “ภีษมะ” รวมทั้ง “อรชุน” ผู้เป็นหลานรัก โดย “ภีษมะ” ได้ให้โอวาทกับทั้ง 2 ฝ่าย และอยู่ในสภาพถูกลูกศรปักทั่วร่างจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง จึงยอมสิ้นใจ โดยฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในศึกดังกล่าว ก็คือ “พี่น้องปาณฑพ”

อ้างอิง มหาภารตยุทธ ฉบับแปลและเรียบเรียง โดย กรุณา - เรืองอุไร กุศลาสัย

related