svasdssvasds

ปลดล็อกพฤติกรรมเสพติดมือถือ 7 กฏช่วยลดอาการ Nomophobia

ปลดล็อกพฤติกรรมเสพติดมือถือ 7 กฏช่วยลดอาการ Nomophobia

Nomophobia คือชื่อเฉพาะที่เรียกผู้มีพฤติกรรมเสพติดมือถือถึงขั้นที่เกิดความกังวลและหวาดระแวงเมื่อไม่มีโทรศัพท์พกติดตัว จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

พฤติกรรมเสพติดมือถือ หรือในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Nomophobia ที่มีมาจากคำว่า no - mobile - phone - phobia ถ้าแปลตามตัวก็คืออาการหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ หรือ ถึงขั้นติดเสพติดมือถือเข้าให้แล้ว ซึ่งทางการแพทย์ไม่นับว่าเป็นโรค โดยอาการที่เข้าข่าย โนโมโฟเบีย มีดังนี้

  • ต้องพกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา
  • คอยคลำหาโทรศัพท์วางไว้ข้างๆ เสมอ
  • หมกมุ่นกับการเช็กข้อความมือถือตลอดเวลา ถ้ามีเสียงข้อความเข้ามาแต่ไม่ได้เช็กทันทีจะกระวนกระวายใจ
  • มือจับโทรศัพท์ตลอดเวลาไม่ว่าจะก่อนนอน กินข้าว เข้าห้องน้ำ นั่งรถก็ตาม

ภาพประกอบพฤติกรรม โนโมโฟเบีย จาก freepik  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ becoming minimalist เปิดเผยสถิติพบว่า 

  1. คนทั่วไปสัมผัสโทรศัพท์มือถือตัวเองเฉลี่ยวันละ 2617 ครั้ง
  2. ค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้งานอยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที ต่อวัน
  3. คนส่วนใหญ่มักหยิบมือถือขึ้นมาทุกๆ 3 นาที

ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวที่ว่ามาอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำของตัวเองและกับคนรอบข้าง เช่น ส่งผลต่อความจำระยะสั้นและการแก้ปัญหา, คุณภาพของบทสนทนา, พฤติกรรมการนอน, ในเด็กเล็กอาจมีผลต่ออารมณ์ด้านลบ การฟื้นคืนอารมณ์จากลบเป็นบวกมีประสิทธิภาพน้อยลง รวมถึงมีผลกับการทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีพบว่าการติดมือถือมีแนวโน้มความสัมพันธ์กับอารมณ์ซึมเศร้าด้วยเช่นกัน 

ใกล้เข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่า หลายๆ คนก็อาจจะลิสต์หัวข้อที่ต้องการตั้งปณิธาน การเปลี่ยนแปลง หรือ เป้าหมายที่อยากบรรลุในปีต่อไป หรือ ที่เรียกว่า New Year Resolution กันรอไว้แล้ว สำหรับใครที่อยากเริ่มต้น Social Detox หรือ ปรับพฤติกรรมการเสพติดมือถือ อันเป็นสาเหตุของ สมาธิการทำงานที่มีคุณภาพน้อยลง หรือ กระทบความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว

เรามีสรุปเคล็ดลับ 7 ข้อเพื่อช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ดังนี้ 

  1. หยุดชาร์จมือถือใกล้กับเตียงนอน
  2. หานาฬิกาปลุกมาแทนการใช้จากนาฬิกาในมือถือ
  3. ตั้งค่ามือถือที่ช่วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ปิดการแจ้งเตือน, ตั้งพาสเวิร์ดให้ยากต่อการใช้งาน, ใช้โหมดเครื่องบิน เป็นต้น 
  4. ลบแอปที่เป็นเหตุให้คุณหยิบมือถือขึ้นมาบ่อยๆ หรือ แอปที่ไม่มีประโยชน์สำหรับคุณออก หรือหาแอปที่จะช่วยควบคุมการใช้งานมาแทน
  5. ทุกครั้งที่หยิบมือถือขึ้นมาต้องรู้ไว้ในใจเสมอว่าต้องการใช้งานอะไร โดยเมื่อเสร็จตามจุดประสงค์แล้ววางไว้ข้างตัว
  6. หาหนึ่งวันในสัปดาห์ที่ตั้งใจจะไม่ใช้มือถือ
  7. ลองออกไปเดินข้างนอกในสถานที่ใกล้บ้านโดยไม่พกมือถือตัวไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้โทรศัพท์มือถือมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและความสะดวกสบายที่อัดลงเครื่องมือสื่อสารเครื่องเดียว จนเราก็เผลอตัว ไปกับหน้าจอมากขึ้นๆ การหาเวลาห่างจากหน้าจอบ้าง ก็อาจช่วยให้เราสังเกตคนรอบตัว ใช้เวลากับคนใกล้ตัวมากขึ้น ได้เวลาทดแทนมาปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน คนรัก ครอบครัวได้เต็มที่

ที่มา

becomingminimalist.com

recoveryranch.com

rama.mahidol.ac.th

related