svasdssvasds

'เงินอุดหนุนบุตร' ดีแค่ไหน คนสมัยนี้ก็ไม่อยากมีลูก !

'เงินอุดหนุนบุตร' ดีแค่ไหน คนสมัยนี้ก็ไม่อยากมีลูก !

ต่อให้ ‘เงินอุดหนุนบุตร’ ดีแค่ไหน คนสมัยนี้ก็ไม่อยากมีลูก เพราะการเป็น พ่อ-แม่ ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของคู่รักอีกต่อไปแล้ว

ในตอนนี้ไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ( Ageing society) โดยสมบูรณ์แล้ว และกำลังจะเข้าสู่ สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ” ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 28 ของประเทศในปี 2030 ทว่านั่นก็อาจยังไม่น่าเป็นห่วงเท่า ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” ในไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

จากข้อมูลจำนวนราษฎรของประเทศไทยปี 2565 พบว่ามีเด็กไทยเกิดใหม่แค่ 485,085 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 70 และสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ กังวลว่าประชากรในไทยจะอยู่ในภาวะพึ่งพิงกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศต้องใช้งบประมาณด้านการรักษาสุขภาพสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ วันที่ 15 พ.ย.66 ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความกังวลถึงประเด็นดังกล่าว โดยเผยว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยเป็นปัญหาของหลายประเทศทั่วโลก หากไม่รีบแก้ไข ภายในปี 2100 ค่าเฉลี่ยการมีบุตรทั่วโลกจะลดลงเหลือแค่ 1.7 คน และประชากรโลกจะเหลือเพียง 8,800 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งไทยจะเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ชลน่าน กล่าวอีกว่าให้ เอาความคิด “ลูกมากจะยากจน” ออกไป พร้อมกับให้กระทรวงสาธารณสุขกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเพิ่มประสิทธิภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ พร้อมกับเตรียมจัดแคมเปญสุดยิ่งใหญ่ Give Birth Great World โครงระดับประเทศที่อาจเชิญชวนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เข้ามาร่วมด้วย ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติว่าการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อจูงใจให้คนไทยมีลูกมากขึ้น

\'เงินอุดหนุนบุตร\' ดีแค่ไหน คนสมัยนี้ก็ไม่อยากมีลูก !

คนสมัยนี้ไม่อยากมีลูก

ที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต่างพยายามออกนโยบายจูงใจให้คนในประเทศมีลูกมากขึ้นมาตลอด ไม่ว่าจะเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพิ่มศูนย์ดูแลเด็กเล็ก รวมถึงเพิ่มวันลาให้พ่อกับแม่เด็ก แต่ดูเหมือนว่าต่อให้รัฐจะใจป้ำแค่ไหน ก็ไม่สามารถจูงใจให้คู่รักในยุคนี้หันมามีลูกได้

ยกตัวอย่างจาก บรรดาคู่รักในเกาหลีใต้ ที่ผลสำรวจเผยว่าแค่รัฐมอบ เงินก้อนโตให้นั้นไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจอยากมีลูก เพราะการเป็นพ่อแม่ในยุคนี้มีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องรายได้

สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานว่า จากการพูดคุยกับคู่รักในเกาหลีปี 2023 พบว่า ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ผู้หญิงในเกาหลีจะได้รับเงินสดเฉลี่ย ล้านวอน 2 (54,725 บาท) เมื่อคลอดลูก 1 คน ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐที่มากกว่าเงินอุดหนุนบุตรของบางประเทศในยุโรปด้วยซ้ำ

โดยปีนี้ครอบครัวในเกาหลี จะได้รับเงินสด 700,000 วอน (19,142 บาท) ต่อเดือน สำหรับเด็กอายุไม่กิน 1 ปี และ 350,000  (9,573 บาท) วอนต่อเดือน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี แต่ในปี 2024 จะมีการปรับเพิ่ม ครอบครัวจะได้รับเงินสด 1 ล้านวอน (27,353 บาท) ต่อเดือน สำหรับเด็กอายุไม่กิน 1 ปี และ 500,000 วอน (13,682บาท) ต่อเดือน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2

นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลสตรีมีครรภ์ การรักษาภาวะมีบุตรยาก บริการพี่เลี้ยงเด็ก ไปจน ถึงค่าใช้จ่ายในการออกเดต เพราะในเวลานี้เกาหลีคือประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้คนมีลูกมากขึ้น ก่อนที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม หญิงสาวเกาหลีคนหนึ่งวัย 39 ปี ที่ทำงานเป็นล่าม ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่า ว่า ถึงเธอจะแต่งงานมา 10 ปีแล้ว แต่การมีลูกไม่เคยอยู่ในหัวของเธอเลย เพราะการเลี้ยงเด็กสักคนหนึ่งคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเธอตระหนักถึงเรื่องนี้เพราะดูจากวิธีที่พ่อแม่เลี้ยงดูเธอมา ทำให้เธอยิ่งไม่ต้องการอยู่ในภาวะนั้น และจะไม่ยอมสละอาชีพการงานเพื่อการเลี้ยงลูกเด็ดขาด

นอกจากนี้เธอและสามียังเห็นตรงกันว่า มันจะดีกว่า ถ้าไม่ต้องกังวลเรื่องส่งลูกเข้าโรงเรียน หรือคิดเรื่องการออมเงิน เพราะเธอกับสามีแค่ต้องการใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ต่อไป และไม่มีนโยบายสนับสนุนไหนของรัฐที่จะเปลี่ยนความคิดของเธอได้ 

การสำรวจโดยภาครัฐยังพบว่า ร้อยละ 36.7 ของผู้ที่มีอายุ 19-34 ปีในเกาหลีไม่อยากมีลูก ในบรรดาหญิงสาวชาวเกาหลี มีเพียง 4% เท่านั้นที่มองว่าการมีลูกคือเป้าหมายชีวิต ส่วนที่เหลือคือมองว่าการมีลูกไม่ใช่เรื่องสำคัญ และนโยบายสนับสนุนให้คนมีลูกของรัฐบาลเกาหลีตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ก็ถูกมองว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายฝ่ายกำลังเรียกร้องให้มีมาตรการที่หนักแน่นมากกว่านี้ออกมารองรับ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในเกาหลียังออกมาแสดงความเห็นว่า การใช้เงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ปกครองสามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน และการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งได้ เพราะคนเกาหลีมีชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยสูงกว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลก และได้รับจัดอันดับจาก Economist ว่าเป็นประเทศที่ผู้หญิงมีความลำบากในสังคมทำงานมากที่สุด ดังนั้นกฎหมายควรมีการเพิ่มวันลา เพื่อการเลี้ยงดูบุตร ลดชั่วโมงการทำงาน และทำให้ชีวิตของคนเป็นแม่ยืดหยุ่นกว่านี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีลูกหรือไม่มีลูกนั้น ไม่ควรถูกรวมไว้ในค่านิยมของสังคม แต่ควรเป็นทางเลือกของแต่ละคู่มากกว่า

ไม่มีลูก ผิดไหม 

ไม่มีลูก ผิดไหม 

หากย้อนกลับมาดูที่ไทย ก็คงคล้ายๆ กัน เพราะแค่การเพิ่มสวัสดิการคงไม่ได้จูงใจให้คนอยากมีลูกเท่าไหร่ เพราะนอกจากเรื่องเงินแล้ว การเป็น พ่อ-แม่ ย่อมหมายถึงการมีรับผิดชอบและแบกรับแรงกดดันมหาศาล และการที่คู่รักสักคู่เลือกที่จะไม่มีลูก อาจไม่ได้หมายถึงความบิดเบี้ยวในสังคม แต่อาจหมายถึงการคิดไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วมากกว่าก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่มาเถียงกันว่า การมีลูกนั้นดีหรือไม่ดี แต่ควรมองว่า ถึงคู่รักหลายคู่ในเมืองไทยจะที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี และมีความรู้มีความสามารถแค่ไหน ก็ไม่ใช่ทุกคู่ที่พร้อมจะเป็นพ่อแม่คน และการคิดว่าจะมีลูกหรือไม่นั้น ก็ควรเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งที่ให้คู่รักแต่ละคู่ตัดสินใจกันเอาเองเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related