SHORT CUT
ไขความลับ "พิพิธภัณพ์พิมาย" ฟื้นมรดกทางประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยี ปลุกปราสาทหินพิมายยามราตรี และปลูกฝังความคิดอนุรักษ์ด้วยมัคคุเทศก์น้อย
"อดีตทำให้เรารู้ว่า เราผ่านอะไรมาบ้าง”
ท่อนหนึ่งจากปากคำยืนยันของ 'ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์' หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ผู้ผดุงรักษาอารยธรรมพันปีแห่งลุ่มน้ำมูล ที่ร้อยเรียงเรื่องราวสลักจารึกอดีต ตั้งตระหง่านให้ผู้คนยุคหลังได้ซึมซับเรื่องราวผ่านโบราณสถานสำคัญของชาติ
'ปราสาทหินพิมาย’ ตั้งอยู่ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่เป็นต้นแบบของปราสาทนครวัดที่โด่งดังของประเทศเพื่อนบ้าน ลวดลายงานประติมากรรม การออกแบบผ่านงานก่อสร้างที่มีมานานนับพันปี กลายเป็นแหล่งข้อมูลอันล้ำลึกชวนให้ศึกษา ความรุ่งเรืองของผู้คนในอดีตกาล
"เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของผู้คน ณ ดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่อดีต และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา ถือเป็นศูนย์กลางของเมืองสำคัญที่โดดเด่นขึ้นมาในภูมิภาคแถบนี้”
แม้ว่าจะทรงคุณค่าสำหรับผู้หลงไหลในประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม แต่อีกภารกิจสำคัญของหัวหน้าภาณุวัฒน์ คือการเล่าเรื่องเก่าในรูปแบบใหม่ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ไม่รู้จักปราสาทหินพิมาย เข้ามาซึมซับความสวยงานที่เคลือบไปด้วยกลิ่นอายอันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีการแสดงที่มีความทันสมัย และปรับรูปแบบการสื่อสารเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะเป็นสะพานเชื่อมร้อยผู้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
"เรามีเพจเฟซบุ๊กของอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เราก็จะสื่อสารทั้งบรรยากาศ ความสวยงามของโบราณสถาน รวมถึงองค์ความรู้ ซึ่งเราก็จะทำอินโฟกราฟิก เพื่อให้สื่อสารเข้าใจง่ายๆ ซึ่งเราก็มีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ ในการร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของกรมศิลปากรเราก็มี "อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง" สามารถค้นหาผ่านคำว่า Virtual Historical Park ซึ่งมีอุทยานในสังกัดกรมศิลปากรทุกแห่งเลย นั่งดูที่บ้านก็ได้ สามารถชมโบราณสถานจุดต่างๆ ได้ เหมือนกับมาเดินเที่ยวชม
แต่คำว่าเหมือน มันก็เหมือนเพียงแค่ว่าอยู่ในหน้าจอ ก็จะเป็นการกระตุ้นว่า ถ้าได้มาชมสถานที่จริงจะสัมผัสอะไรได้ลึกซึ้งมากกว่านั้น” หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย กล่าวเชื้อเชิญผู้คน
นอกจากนี้ที่ผ่านมาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ไม่ว่าจะเป็นการประดับไฟโบราณสถาน ในกิจกรรม Phimai Night Light Up และ Museum Night เมื่อปี พ.ศ.2567 เพื่อชมปราสาทพิมายยามค่ำคืน โดยทั้งสองกิจกรรมเสมือนการบูรณาการประสานกัน
หัวหน้าภาณุวัฒน์ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าสิ่งนี้เป็นมิติใหม่ โดยปกติทั่วไปจะมองภาพว่าโบราณสถาน เป็นสถานที่ที่ต้องอนุรักษ์ปกปักษ์ไว้ โดยเน้นการชมในภาคกลางวัน แต่ในทุกปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลความปลอดภัยหลายๆ ด้าน เพิ่มเข้ามาไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด หรือว่ามาตรการต่างๆ ซึ่งสามารถวางแผนได้
"โดยการแสดงเราใช้เลเซอร์หรือว่าไลท์ติ้ง ที่มีการพัฒนาให้ทันสมัย ประดับไฟโบราณสถานยามราตรี สร้างสีสัน สร้างความตื่นตาตื่นใจ เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมความงาม ก็จะมีการแชร์กันต่อๆ ไป เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวพักค้างแรมใน อ.พิมาย ก็จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย"
สำหรับเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา เราจะมีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ผ่านสโลแกน "สุขมากมาย สนุกมากมาย ประทับใจมากมาย" คือ มาเที่ยวปราสาทหินพิมายแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงแค่การมาศึกษาความรู้อย่างเดียว แต่อยากให้รับทั้งความสุข ความประทับใจด้วย นอกจากนี้ยังมีท่าสโลแกนต่างๆ เช่นท่าสุขมากมาย ถ้ามองผิวเผินก็คือรอยยิ้ม แต่จริงๆ ท่านี้ถ้าไปสังเกตในภาพสลัก ก็จะมีภาพฤาษีนั่งลูบเคราในปราสาทหินด้วย
เป็นที่น่าสนใจว่าที่ผ่านมาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมอาสาสมัครมัคคุเทศก์น้อย สื่อสารกับนักท่องเที่ยวทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งดำเนินการมาได้ประมาณเกือบ 3 ปีแล้ว ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมถ่ายทำหนังสั้น และถ่ายภาพนิ่งชุดอัปสรา
ในกลุ่มระดับผู้ใหญ่ขึ้นไปจะมีกิจกรรมของกลุ่มลายแดนซ์เพื่อสุขภาพ โดยการเต้นออกกำลังกายในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และที่น่าสนใจคือกลุ่มที่มาเต้นลายแดนซ์ ก็เป็นคุณย่าคุณยายของเด็กๆ มัคคุเทศก์น้อย ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในทุกรุ่นทุกวัย
"อนาคตของปราสาทพิมาย ก็อยู่ในมือของเด็กนี่แหละครับ ถ้าหากว่าคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาซึมซับเข้ามาผูกพัน อนาคตข้างหน้าเขาก็จะเป็นเหมือนเครือข่าย ในการประสานความเข้าใจ ทำไมเราต้องอนุรักษ์เมืองพิมายไว้ ทำไมจึงมีความจำเป็นจะต้องควบคุมสิ่งปลูกสร้าง ไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่ใหญ่โต คือเรามองภาพของการอนุรักษ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยความภาคภูมิใจ ที่เป็นรากเหง้าวัฒนธรรมของเขาครับ” หัวหน้าภาณุวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย