svasdssvasds

"ส่องโซเชียล" สร้างความกดดัน-เดอะแบก ไม่รู้ตัว ลองวิธี Social Detox ง่ายๆ

"ส่องโซเชียล" สร้างความกดดัน-เดอะแบก ไม่รู้ตัว ลองวิธี Social Detox ง่ายๆ

เคยรู้สึกมั้ยว่า? บางครั้งยิ่งเล่นโซเชียลมีเดีย “ยิ่งกดดัน รู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ” เหมือนเดอะแบก ที่กำลังโลกไว้ทั้งใบ ถ้ารู้สึกแบบนั้น อาจแสดงว่าคุณติดโซเชียลมากเกินไป ลองหาเวลาพัก Social Detox บ้างดีมั้ย

โซเชียลมีเดีย ดาบสองคมที่ค่อยๆหล่อหลอมความคิดเรา

เราทุกคนมีความคิดหรือสิ่งที่เราเชื่อมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะได้ยินมาจากโทรทัศน์ที่เราดูบ้าง หรือฟังเรื่องราวจากพ่อแม่ผู้ปกครองบ้าง แต่เคยรู้สึกไหมว่าเมื่อเราโตขึ้น ความคิดหรือทัศนคติที่เราคิดมาตั้งแต่เด็กๆนั้น มันเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มจะจางหายไปเมื่อเราได้รับข้อมูลใหม่ๆ ข้อมูลที่เราเชื่อถือมากกว่าข้อมูลที่เราเคยได้รับ อาจเพราะเราโตขึ้น มีประสบการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น แต่ข้อมูลเหล่านั้นมันเป็นข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดแล้วรึเปล่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้รับมามันเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเป็นข้อมูลที่เราควรรับรู้จริง ๆ

โซเชียลมีเดีย ดาบสองคมที่ค่อยๆหล่อหลอมความคิดเรา Photo : Freepik

ในอดีตการส่งและรับข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ การส่งและรับข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่จะใช้วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ผิดกับในปัจจุบันเมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาในชีวินประจำวัน อีกทั้งยังมีสมาร์ทโฟนที่สามารถทำอะไรได้มากมาย การสื่อสารที่ง่ายขึ้น ทำให้เราทุกคนสามารถเป็นสื่อด้วยตนเองได้แล้ว ซึ่งการที่เราได้รับรู้และส่งข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้นจริง ๆ มันก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่บางทีข้อมูลที่เราได้รับมามันก็อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง และ “บางข้อมูลเราก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้มากจนเกินไป

ข้อมูลจาก We Are social เมื่อเดือนกุมภาพันธ์พบว่า คนไทยมีสถิติการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์รวมกันมากถึง 56.8 ล้านคน และมีคนไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากถึง 70.01 ล้านคน และคนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ยวันละ 2.59 ชั่วโมง

โซเชียลมีเดีย : “บางข้อมูลเราก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้มากจนเกินไป” อาจกดดันและจิตตก ได้

ความคิดของคนเราจริงๆมันก็ไม่ได้เปลี่ยนได้ง่ายขนาดนั้น

จริง ๆ การโน้มน้าวใจให้คนเราเปลี่ยนความเชื่อใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากพอควร ในการตัดสินใจต่าง ๆ มนุษย์เต็มไปด้วยอคติหรือความลำเอียง (bias) หนึ่งในความลำเอียงที่เป็นที่ยอมรับก็คือความลำเอียงเพื่อตรวจสอบ (confirmation bias) คนเรามีความเชื่อหลายอย่างที่ถือว่าเป็นความเชื่อหลัก  ซึ่งมักเป็นความเชื่อที่ปักใจเชื่อมาเป็นเวลานาน

เรามีความเอนเอียงที่จะเชื่อถือหลักฐานหรือการให้เหตุผลที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ความเอนเอียงนี้เองทำให้เมื่อเราพบกับหลักฐานหรือข้อมูลสองชุดที่ขัดแย้งกัน เราจะตั้งข้อสงสัยอย่างหนักหน่วงกับหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเราเอง แต่แทบจะไม่ตรวจสอบอะไรเลย เมื่อเป็นข้อมูลหลักฐานที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของเรา ความลำเอียงของเราเหล่านี้อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมเราถึงเปลี่ยนความเชื่อที่ใครสักคนมีได้ยาก

บางครั้งเราก็เลือกจะคิดว่า "สิ่งนั้นถูก" เพราะสิ่งนั้นตรงกับ "ความเชื่อตัวเอง"

ทำไมเล่นโซเชียลมีเดียเยอะ ๆ ความคิดอาจเอนเอียงไปตามสิ่งที่เห็นได้ ?

หลายๆแพลตฟอร์มตอนนี้สามารถแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังมีการแบ่งคอมมูนิตี (Community) ที่ชัดเจนและหลากหลาย เช่น คอมมูฯ แฟนคลับนักร้องเกาหลี คอมมูฯ แฟนคลับการ์ตูนญี่ปุ่นหรืออนิเมะ (Anime) คอมมูฯ คนชอบอ่านนิยาย หรือก็คือเป็นที่ที่คนมีความชอบแบบเดียวกันมารวมตัวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระ และที่สำคัญโซเชียลมีเดียในตอนนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารไวมาก และสามารถแพร่กระจายออกไปยังคนอื่นๆในสังคมได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งที่กล่าวไปว่า การที่เราจะดูว่าเขามีแนวคิดอย่างไร ให้ดูจากไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียของเขานั้นไม่เกินจริงเลย เพราะวัยรุ่นสมัยนี้เล่นอินเทอร์เน็ตกันเป็นชีวิตจิตใจ มีข่าวสารอะไรก็เช็กจากอินเทอร์เน็ตก่อนเป็นอันดับแรก การที่เราได้รับข้อมูล ทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งบ่อยๆ มันก็อาจทำให้ความคิดของเราคล้อยตามไปด้วย บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ดี แต่บางเรื่องมันก็ไม่ใช่

“อาจจะเป็นเพราะว่าเราได้รับข้อมูลมาจากคนที่เราคิดว่าชอบอะไรเหมือนๆกัน ความคิดคล้ายๆกัน เราเลยเชื่ออย่างสุดใจว่า ข้อมูลที่เราได้รับมาคือข้อมูลที่ดีที่ถูกต้อง หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะข้อมูลนั้นกำลังเป็นเทรนด์ เมื่อมีคนแชร์ข้อมูลนั้นเยอะมากๆ เราเลยคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง”

บางครั้งยิ่งเล่นโซเชียลมีเดีย “ยิ่งกดดัน รู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ”

ยิ่งเล่นโซเชียลมีเดีย “ยิ่งกดดัน ยังดีไม่พอ” เหมือนเดอะแบก

เคยรู้สึกไหมว่ายิ่งเราเล่นโซเชียลและรับรู้เรื่องราวมากมายเท่าไหร่ ตัวเราเองก็จะรู้สึกทุกข์ใจกระวนกระวายมากขึ้น

ตอนนี้คนที่มีแนวโน้มเข้าถึงโซเชียลมีเดียมากที่สุดก็คือคน Gen Y หรือ ชาวมิลเลนเนียล คือกลุ่มคนที่มีอายุ 26 - 40 ปี แม้คนเจเนอเรชันนี้จะเปี่ยมไปด้วยพลังและมีความมุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าความสำเร็จในชีวิตแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งการแข่งขันและการเห็นชีวิตเพื่อน ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาเกิดความทุกข์ หากรู้สึกว่าชีวิตตนเองนั้น “ยังดีไม่พอ” มิหนำซ้ำการกดดันตนเองแบกความคาดหวังของครอบครัวไว้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

“แต่จริง ๆ แล้ว การเปรียบเทียบคือเรื่องปกติของมนุษย์ ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเกิดพลังบวก อันนี้พาชีวิตไปต่อได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่การเปรียบเทียบทำให้เกิดพลังลบ จนเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้แบบเขา หรือเริ่มไม่อยากเข้าสังคมเพราะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ให้หยุดทันที”

ซึ่งวิธีหยุดก็คือให้เราตระหนักว่า “เรากำลังทำร้ายตัวเองด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่หรือเปล่า

วิธี Social Detox พักโซเชียล เพื่อชีวิตและสุขภาพใจ ที่ดีขึ้น

ถ้ารู้ตัวแล้วว่าติดโซเชียลมากเกินไป Social Detox บ้างดีมั้ย

การทำ Social Detox เป็นเหมือนการพักและปล่อยวางจากโลกโซเชียลมีเดียระยะนึง ถ้าเรารู้สึกว่ายิ่งเล่นยิ่งรู้สึกไม่ดี ไม่โอเคกับการเห็นสิ่งต่างๆ หรือได้รับคอมเมนต์ในเชิงแย่ๆ ก็อาจจะลองเว้นจากการเล่นโซเชียลซักพักหนึ่ง โดยวิธีการมีดังนี้

  • ตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลง หรือปิดการแจ้งเตือน
  • กำหนดเวลาในการเล่นหรือใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟน
  • Social Detox ทุกวันหยุด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลายจากโซเชียลมีเดีย
  • ซึมซับบรรยากาศแบบออฟไลน์ ออกไปใช้ชีวิต พักผ่อน ทำกิจกรรมกับคนที่คุณรัก
  • งดเล่นสมาร์ทโฟนตอนก่อนนอน

อย่าลืมให้ความสำคัญกับคนข้างๆ มากเท่ากับการมองผ่านโซเชียล

การเสพติด Social media นั้นเหมือนดาบสองคม เพราะการที่เรานั้นเสพติดมันมากจนเกินไป มันก็ส่งผลทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ในปัจจุบันเราก็ต้องยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนขาดไม่ได้แล้วในชีวิตประจำวัน ดังนั้นควรมีสติทุกครั้งในการเสพสื่อข่าวต่าง ๆ

เพราะนั่นคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทางที่ดีควรใช้ในด้านที่บันเทิงเพื่อคลายเครียด หรือหาความรู้เพื่อที่จะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ง่ายดายขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพและอาชีพการงานน่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด

บทความอื่นที่น่าสนใจ

อ้างอิง

related