ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว..พระเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้า(ปกติพระองค์ท่านจะพระบรรทมทับตะวัน)แล้วทรงทอดพระเนตรเห็นพระรูปหนึ่งกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ในพระราชวังสวนจิตรลดา
เช้าวันนั้นพระองค์จึงทรงเสด็จลงมาใส่บาตรแล้วถามว่า หลวงพ่ออยู่ที่วัดไหน ? พระรูปนั้นตอบว่า.. อยู่ที่วัดป่าพรรณานิคม..แล้วพระรูปนั้นก็เดินหายไปตรงมุมพระตำหนัก
พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งให้ฮ.เตรียมพร้อมแล้วตามไปที่วัดป่าพรรณนิคม ก็พบหลวงพ่อรูปนั้นกำลังนั่งฉันข้าวอยู่..พระรูปนั้นก็ คือ "พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร" วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นั่นเอง
หลวงปู่ฝั้นได้รับความศรัทธาจากองค์พระประมุข และราชสกุลเป็นอย่างสูง เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอุดมสมพรหลายครั้ง เมื่อหลวงปู่ฝั้นเข้ามาในกรุง ก็ทรงโปรดให้อาราธนาเข้าไปแสดงธรรมในพระราชฐาน บางคราวรับสั่งสนทนากับหลวงปู่อยู่จนดึกมาก เวลาหลวงปู่จะลุกขึ้น เพราะหลวงปู่นั่งอยู่อิริยาบถเดียวนานเกินควร จึงลุกขึ้นไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯเสด็จเข้าทรงช่วยพยุงหลวงปู่ด้วยพระองค์เอง
และเมื่อพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรละสังขาร พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถวายหีบทองแด่ท่านผู้เป็น "พระอาจารย์สอนกรรมฐานแด่พระองค์" และนั่นก็เป็นที่มาของภาพการกราบหีบทองของ "หลวงปู่ฝั้น" พระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งในรัชกาลพระองค์
เป็นภาพหาชมยากสำหรับคนไทยอีกภาพ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญเมื่อพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มรณภาพในวันที่ 4 มกราคม 2520 สิริอายุ 77 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯไปทรงสรงน้ำศพ และลำดับต่อมาในวันที่ 21 มกราคม 2521 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร เพื่อพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์
โดยภาพความทรงจำในวันนั้นที่เป็นบุญตาและหาชมได้ยากสำหรับเหล่าชาวบ้านและผู้มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้นนั้นคือ การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงลดพระองค์ลงกราบศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร บนพระสุหนี่ปูลาดที่พื้นสนามหน้าจิตกาธาน ซึ่งนับว่าพระอาจารย์ฝั้นเป็นอีกบุคคลสำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และพระองค์ท่านยังทรงเป็นลูกศิษย์ มีการปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างพระอาจารย์ฝั้นด้วย เช่น เรื่องการทำความดี ละเว้นความชั่ว เรื่องศาสนา
ส่วนหีบบรรจุศพพระอาจารย์ฝั้นนั้น พ่อหลวงของแผ่นดินได้พระราชทานหีบทองแด่พระอาจารย์ฝั้น ด้วยเพราะพระอาจารย์สอนกรรมฐานแด่พระองค์มาโดยตลอด และในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงได้เข้าไปไหว้หีบศพพระอาจารย์ฝั้นด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะเสด็จฯกลับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ท่านยังมีปฏิสันถารกับพสกนิกรชาวไทยที่มาเข้าเฝ้าฯรับเสด็จอย่างไม่ถือพระองค์ด้วย
สำหรับประวัติพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) ในตระกูลสุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองพรรณานิคม โดยมารดาของพระอาจารย์ฝั้นชื่อว่า นางนุ้ย เมื่อท่านอายุได้ 20 ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสิทธิบังคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูป้องเป็นอุปัชฌาย์และเป็นผู้สอนการเจริญกรรมฐานตลอดพรรษา ก่อนจะออกพรรษามาพำนักที่วัดโพนทอง และได้ธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อเผยแผ่คำสอนแก่ชาวบ้าน จนได้รับการยกย่องให้เป็นอริยสงฆ์
ส่วนบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐาน 3 ชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้เครื่องอัฐบริขารพระอาจารย์ฝั้นรวมอยู่ที่เดียวจะเป็นเรื่องอันดี
Cr.http://www.dharma-gateway.com/