ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบิน ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จาก จำนวนชนชั้นกลางทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น คุณธันย์ชนก จงยศยิ่ง ผู้สื่อข่าวของสปริงนิวส์ ได้มีโอกาสได้ไปสำรวจโรงงานผลิตเครื่องบินของโบอิ้ง ที่ เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา และ พูดคุยกับผู้บริหารของโบอิ้งถึงทิศทางอุตสาหกรรมการบิน และ แนวโน้ม การเติบโต รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต
ดีเนช เอ เคสการ์ (Dinesh A. Keskar) รองประธานอาวุโส ด้านการขายในเอเชียแปซิฟิกและอินเดีย บริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลนส์ เปิดเผย กับ ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์ ว่า
"เอเชียเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดของโลก 40% ของตลาดของเราอยู่ในเอเชีย เพราะมีการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันก็มีสายการบินระดับพรีเมียมอยู่แล้ว เช่น การบินไทย สิงคโปร์แอร์ไลนส์ คาเธ่ย์ ANA และ JAL นอกจากนี้คนเอเชียยังมีรายได้มากขึ้น ทั้งหมดเป็นปัจจัยให้ตลาดเอเชียของเราโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยอัตราการเติบโตของโลกอยู่ที่ประมาณ 5% แต่ อัตราการเติบโตของเอเชียมากกว่านั้น
ในแง่ของการส่งมอบเครื่องบินในช่วง 20 ปีข้างหน้า จะมีการใช้เงินเพื่อซื้อเครื่องบินประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์จะอยู่ที่เอเชีย
สำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โบอิ้งคาดการณ์ว่า การเดินทางทางอากาศในชาติอาเซียนด้วยกันจะเติบโตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของโลก เช่นจีน อยู่ที่ 6.3% ต่อปี / ยุโรปเติบโตที่ 3.5% และอเมริกาเหนือจะเติบโตที่ 5.3%
แม้อุตสาหกรรมการบินจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ผู้บริหารของโบอิ้งก็ยอมรับว่ามีความท้าทายมากด้วยเช่นกัน
ดีเนช เอ เคสการ์ (Dinesh A. Keskar) กล่าว สรุป ว่า
"ความท้าทายอย่างแรกคือปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเรามีเครื่องบินมากขึ้น มีคนใช้สนามบินมากขึ้น คุณก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ที่สำคัญ คือ โลกของเราต้องมีสนามบินเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจนี้ และ จะมีสนามบินสองประเภท คือสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะต้องการสนามบินที่รองรับการบริการต่างๆได้เช่น ห้องรับรองสายการบิน รวมถึงร้านค้าในสนามบิน ส่วนสนามบินอีกประเภทจะใช้สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ต้องการเพียงแค่ให้ผู้โดยสารไปถึงตัวเครื่องบินเท่านั้น ทั้งสองรูปแบบของสนามบินนี้สำคัญและจะตอบโจทย์ได้ดี และคุณจะเห็นว่าในอนาคต ผู้คนจะเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำมากเพราะราคาเข้าถึงได้ แต่ความท้าทายคือเราจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทันได้อย่างไร โบอิ้งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นจีนเร่งผลิตเครื่องบินมาแข่งด้วย
ตอนแรกอุตสาหกรรมเครื่องบินผูกขาดอยู่ที่โบอิ้ง และ แอร์บัส แต่ ต่อมาก็มี บอมบาร์ดิเอร์ ถ้าดูที่ญี่ปุ่น ก็กำลังพัฒนาเครื่องบินที่เรียกว่า MRJ ส่วนรัสเซียก็กำลังเร่งพัฒนาเครื่องบิน จีนก็ด้วยเช่นกัน ทุกคนมีความฝันที่จะเข้ามาสู่ตลาดนี้ เรายินดีที่มีการแข่งขัน แต่เราก็จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด คุณได้เห็นการผลิตเครื่องบินของเราที่โรงงานวันนี้ เราพยายามนำเสนอเครื่องบินที่ดีที่สุดในราคาที่ต่ำที่สุดเพื่อลูกค้าซึ่งก็คือสายการบินต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้ลูกค้าของพวกเขารู้สึกดีกว่าหากได้บินกับเครื่องบินของโบอิ้ง"
***รับชมคลิป***