svasdssvasds

ศาลปกครอง สั่ง! เพิกถอนคำชี้ขาด "อนุญาโตฯ" ไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน

ศาลปกครอง สั่ง! เพิกถอนคำชี้ขาด "อนุญาโตฯ" ไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน

เฮ! ทั้งประเทศ ไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ระบุพยานหลักฐานในคดีอาญาถือเป็นหลักใหม่ที่ชี้ชัดว่ามีขบวนทุจริต จนนำไปสู่การทำสัญญาไม่ชอบ เป็นสิทธิที่ศาลจะเพิกถอนได้เพื่อความสงบเรียบร้อยของปชช.

 

วันนี้ ( 6 มี.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งมีบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นแกนนำ โดยศาลเห็นว่า แม้กระทรวงคลัง ซึ่งเป็นผู้ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลได้ เนื่องจากไม่ใช่ คู่สัญญาและไม่ได้รับผลกระทบจากผลแห่ง

คำพิพากษาโดยตรง แต่กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นผู้คัดค้าน เป็นคู่กรณีในฐานผู้ว่าจ้างฯ เป็นผู้กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครองซึ่งโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปดดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบของราชการ มีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชน คำขอพิจารณาคดีใหม่ จึงเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม

นอกจากนี้การที่กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคล พยานเอกสารในชั้นสืบพยานในคดีอาญาที่ นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดี คพ. และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ตกเป็นจำเลย ในความผิดทุจริตเอื้อประโยชน์เอกชนในการทำสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ต่อศาลถือเป็นหลักฐานที่ไม่เคยปรากฎในการพิจารณาศาลปกครองมาก่อนหน้านี้ จึงถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ( 1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ระบุว่าหากมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท้จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนไปในสาระ ศาลสามารถสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ส่วนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนศาลมีอำนาจเพิกถอนหรือไม่เพียงใด เห็นว่า จากหลักฐานใหม่ที่ปรากฎพบว่า บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้นำโครงการของกิจการ ร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้กล่าวอ้างคุณสมบัติด้านการเงินของ บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ กรุ๊ป จำกัด

โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในโครงการ และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนรับผิดชอบการลงทุนเฉพาะงานเดินระบบและซ่อมบำรุง ซึ่งมีมูลค่าของงานประมาณร้อยละ 10 ของราคาโครงการแต่นายปกิต กับพวก ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษกับไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับจ้าง ให้ผ่านการคัดเลอืกเป็นผู้มีสิทธิเข้าประกวดราคา และยังพบว่านายปกิต กับพวกในฐานะเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษร่วมกันออกประกาศท้องที่ที่จะขายที่ดินสำหรับใช้ในโครงการ ซึ่งห่างไปจากที่บริษัทสินธุมอนต์โกเมอรี่วัตสัน เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้ทำการศึกษาไว้กว่า 20 กิโลเมตร โดยไม่มีผลศึกษาที่ดินรองรับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เป็นผู้เสนอขายที่ดินในบริเวณดังกล่าว ที่มีความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร และเชิงทุนกับผู้บริหารที่มีอำนาจลงนามของบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี

นอกจากนี้นายปกิต กับพวกได้ร่วมกันแจ้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดการประกวดราคา (TOR) ทำให้ที่ดินของกลุ่มบริษัทมารูเบนี่ คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาอีกรายหนึ่งขาดคุณสมบัติ จึงเหลือที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในความควบคุมของกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เพียงรายเดียว และเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาและกำหนดให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท

นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับผิดร่วมกันและแทนกันตามสัญญา แต่นายปกิตกับพวกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเป็นให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี รับผิดร่วมกัน โดยตัดข้อความที่ให้บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องรับผิดร่วมกันออก และในการลงนาม

ในสัญญาได้ให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ลงนามแทนกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ยื่นครั้งการประกวดราคา ซึ่งต่อมาบริษัทนอร์ทเวสต์ วอเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทนอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แจ้งขอถอนหนังสือมอบอำนาจเดิมต่อนายปกิตแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นปัญหาภายในที่ไม่เกี่ยวกับกรมควบคุมมลพิษ อันเป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้า หลังจากนั้นได้มีการยินยอมให้บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ่ง จำกัด ผู้ร้องที่ 69 ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

"การที่นายปกิต กับพวก ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ย่อมเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับระเบียบการบริหารราชกาแรผ่นดิน มติครม.และกฎหมาย กลับกระทำการขัดต่อระเบียบราชการ มติครม. และกฎหมายทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาออกแบบ ร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก ขั้นตอนการจัดหาที่ดิน ขั้นตอนการประกวดราคา ทั้งมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จนท้ายที่สุดมีการลงนามในสัญญา โดยผลของการกระทำดังกล่าว เป็นไปในทางที่ทำให้ราชการเสียหาย โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์คือบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ดังนั้นการที่นายปกิต อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นได้เข้าทำสัญญาในฐานะผู้แทนของกรมควบคุมมลพิษ โดยเอื้อประโยชน์ให้คู่สัญญา โดยกระทำการขัดต่อระเบียบราชการ มติครม.และกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำแทนกรมควบคุมมลพิษ และเมื่อสัญญาโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เกิดการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวม 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลล่าร์สหรัฐตามสัญญาโครงการออกแบบฯ จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ ตามมาตรา 40 วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545 เนื่องจากหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาด ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน"

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอ่านคำพิพากษาวันนี้ ก็ได้มีกลุ่มประชาชนชาวคลองด่าน จ.สุมทรปราการ ที่คัดค้านการจ่ายค่าเสียหายในโครงการดังกล่าวมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยและแสดงความดีใจที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว โดยนายเฉลา ทิมทอง แกนนำกลุ่ม กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่ไม่ต้องนำเงินภาษีที่เสียให้กับรัฐไปจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนที่กระทำการทุจริตกับเจ้าหน้าที่รัฐบางราย อย่างไรก็ตามอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติครม. 17 พ.ย.58 ที่ให้จ่ายเงินค่าเสียหายให้กับเอกชน

ขณะที่นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่าโดยตามขั้นตอนกฎหมาย คู่ความคือกลุ่มเอกชน ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังนั้นคดีจึงยังไม่ถือว่าสิ้นสุด

อย่างไรก็ตามเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด กรมควบคุมมลพิษยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุดที่เคยสั่งไว้ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจะต้องยื่นคำร้ององค์คณะคดีเดิมว่า ขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในการร้องขอพิจารณาคดีคลองด่านใหม่ ที่ศาลสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตฯ เพื่อให้องค์คณะคดีเดิมวินิจฉัยว่า จะงดการบังคับคดีต่อไปหรือไม่ อย่างไร โดยศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยและสั่งงดการบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ( ป.วิ แพ่ง) มาตรา 289 ขณะที่การวินิจฉัยนั้นกลุ่มเอกชน คู่ความ ก็สามารถยื่นโต้แย้งสิทธิได้ ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาประกอบกัน

หลังจากนี้ ต้องดูว่า เอกชน คู่ความจะยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาใหม่นี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะหากไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาใหม่นี้ คดีจึงจะถึงว่าที่สุด คือ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ที่กรมควบคุมมลพิษหน่วยงานรัฐ ไม่ต้องชำระเงินใดๆ ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯ

related