ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ภายในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 11 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ทม.ร.11 รอ.) คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนฯ ทำการการฝึกซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราสถลมารค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมรวมกำลังพลจากทุกหน่วยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะลงพื้นที่จริงช่วงกลางเดือน เม.ย. โดยวันนี้ มีผู้บัญชาจากทุกเหล่าทัพ เข้าร่วมซักซ้อม ทั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. , พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. , พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. , พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.
สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. มาในชุดเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ร่วมซ้อมเดินในริ้วขบวนในแถวแซงเสด็จ ซึ่งอยู่กับใกล้พระที่นั่งพระราชยานพุดตานทองร่วมกับกำลังพลท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด
การซ้อมครั้งสุดท้าย ยังคงจำลองเส้นทางและพื้นที่การฝึกเสมือนจริงเช่นเดิม จำลองการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครยัง 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร / วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป้าหมายการซ้อมเพื่อให้กำลังพลได้ทราบเส้นทางจุดที่ริ้วขบวนจะเคลื่อนผ่าน ตั้งแต่พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ภายในพระบรมมหาราชวัง , บริเวณหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท , ศาลาสหทัยสมาคม รวมทั้งฝึกการเผชิญจุดอุปสรรคคับขันบริเวณช่องทางแคบต่างๆกำหนดเท่าขนาดพื้นที่จริง จำลองประตูภายในพระบรมมหาราชวัง คือ ประตูวิเศษไชยศรี และ ประตูพิมานไชยศรี และอีกหนึ่งคือ ถนนตะนาวที่ค่อนข้างแคบต้องมีการปรับแถวขบวนให้สามารถผ่านได้โดยคงไว้ซึ่งความพร้อมเพรียงและแข็งแรงในการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ทั้งยังเน้นซ้อมการแบกหามพระราชยานที่จะมีการเปลี่ยนกำลังพลชุดแบกหามทุกๆ 500 เมตร ซึ่งยังพบอุปสรรคในช่วงการสลับเปลี่ยนชุดพลแบกหามอยู่เล็กน้อย ทางคณะอนุฯได้ดำเนินปรับแก้ไขให้เรียบร้อย โดยการเคลื่อนริ้วขบวนฯกำหนดไว้ที่ 85 ก้าวต่อนาที หรือมีระยะก้าวๆละ 40 เซนติเมตร เพื่อสะดวกต่อการเดินตามจังหวะ ส่วนที่บทเพลงที่ใช้ในการเคลื่อนริ้วขบวน ประกอบด้วย เพลงมาร์ชราชวัลลภ , เพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น , ใกล้รุ่ง , สรรเสริญพระนารายณ์ , มาร์ชธงชัยเฉลิมพล ขณะที่การฝึกซ้อมการเทียบเกยทั้งการเข้า-การออก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ แต่ละจุดมีความแตกต่างกัน เกยบริเวณวัดบวรฯและวัดราชบพิธฯจะเป็นเกยขวา ขณะที่วัดพระเชตุพนฯจะใช้การเข้าออกเกยอีกด้านเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีถนนตัดผ่านหลายเส้นทางและทางค่อนข้างแคบ กำลังพลจึงต้องฝึกการเข้าเกยให้คุ้นเคย
ขณะ ผบ.ทสส. เปิดเผยว่า ภาพรวมการซ้อมริ้วขบวนฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการเก็บรายละเอียดในแต่ละจุดให้งดงาม พร้อมอำนวยการรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางเสด็จ เชิญชวนประชาชนร่วมชมความงดงามในงานพระราชพิธีฯ มีกำหนดเข้าฝึกซ้อมในพื้นที่จริง รวม 3 ครั้ง คือ 17 , 21 และ 28 เม.ย. 2562 สำหรับเส้นทางเสด็จเลียบพระนครในวันที่ 5 พ.ค.2562 รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลารวมประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มเสด็จฯ ในเวลา 16.30 น.