svasdssvasds

โบราณราชประเพณี "สรงมูรธาภิเษก"

โบราณราชประเพณี "สรงมูรธาภิเษก"

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

โบราณราชประเพณี "มูรธาภิเษก" คือคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ถือว่าการยกผู้ใดให้เป็นใหญ่ต้องทำพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ และแม่น้ำ 7 สาย (สัปตสินธวะ) ซึ่งคติไทยยึดตามคัมภีร์เวสสันดรชาดก คือถือเพียง 5 สาย (ปัญจมหานที)

ความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคาตามคัมภีร์พระเวทและปุราณะถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาด และขลัง ถ้าได้รดชำระร่างกายจะเกิดมงคล พ้นมลทิน และเชื่อกันว่าบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือจุฬาตรีคูณ 3 ประยาค (สังคัม) เมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตรประเทศ

เมื่อพราหมณ์เข้ามามีอำนาจปกครองอาณาจักรฟูนันและเจนละ (กัมพูชาปัจจุบัน) ในสุวรรณภูมิ ได้แผ่ลัทธิจารีตประเพณีเข้าไปยังดินแดนที่เป็นไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้ในปัจจุบัน รวมทั้งได้นำพิธีมูรธาภิเษก 4 มาใช้ในการประกอบพิธียกย่องบุคคลให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ตั้งการพิธีเชิญขึ้นสู่มณฑปพระกระยาสนานสรงมูรธาภิเษกในการขึ้นครองแผ่นดิน เรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงอธิบายที่มาว่า "เป็นพิธีพราหมณ์ปนพุทธ ได้ธรรมเนียมมาจากเขมรหรือมอญ เพราะเขมรโบราณถือลัทธิพราหมณ์ที่มีการอภิเษก ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การรับน้ำอภิเษกแสดงความเป็นใหญ่ในแคว้น 8 ทิศ"

โบราณราชประเพณี "สรงมูรธาภิเษก"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า "หลักแห่งการราชาภิเษกมีรดน้ำ แล้วเถลิงราชอาสน์เป็นเสร็จพิธี และที่ว่าปนกันนั้นคือการสรงมูรธาภิเษกกับขึ้นอัฐทิศรับน้ำ เป็นการรดเหมือนกัน มูรธาภิเษกจึงเป็นพระราชพิธีสำคัญเพื่อถวายความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดิน"

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบพระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษกตามโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุว่า "หลวงโลกทีปและพระมหาราชครูกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรง เจ้าพนักงานชาวภูษามาลาถวายพระภูษาถอด เสด็จเข้าสู่มณฑปพระกระยาสนาน เสด็จเหนืออุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา หลวงวงศา (ภรณ์ภูษิต) ชาวภูษามาลา ไขสหัสธารา"

เหตุที่ต้องใช้วิธีไขสหัสธารา เพราะขัตติยราชประเพณี ผู้ใดจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือเทพมนตร์ที่พระศิรเจ้าขององค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ จะถวายก็ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์หรือด้วยพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์ ซึ่งทรงแบรับ แล้วทรงลูบไล้พระพักตร์และพระศิรเจ้า พิธีปฏิบัติเช่นนี้คือตอนเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศ 9 ประทับทรงรับน้ำอภิเษกจากพระมหาราชครูพิธีพราหมณ์และราชบัณฑิตทั้ง 8 ทิศ ถวายความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินตามราชประเพณีแต่โบราณ

โบราณราชประเพณี "สรงมูรธาภิเษก"

สำหรับน้ำที่มาจากแม่น้ำสำคัญๆ ในอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา, ยมุนา, อจิรวดี, สรภู, มหิ และปัญจสุทธคงคา แต่เนื่องจากในอดีตการเดินทางระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดียเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก จึงใช้น้ำจากแหล่งน้ำลำดับที่ 2 และ 3 แทน ได้แก่แม่น้ำสำคัญทั้ง 5 สายของไทย คือ

1. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ ต.บางแก้ว จ.อ่างทอง

2. แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าชัย จ.เพชรบุรี

3. แม่น้ำราชบุรี ตักที่ ต.ดาวดึงส์ จ.สมุทรสงคราม

4. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ ต.ท่าราบ จ.สระบุรี

5. แม่น้ำบางปะกง ตักที่ ต.บึงพระอาจารย์ จ.นครนายก

นอกจากนี้ยังมีสระน้ำอีก 4 สระ คือ สระเกษ, สระแก้ว, สระคา และสระยมนา ใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำสรงมาแต่โบราณ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่ง และทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านท่าเสด็จ" จากนั้นจึงนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์

การเสด็จประทับ ณ มณฑปพระกระยาสนาน สรงมูรธาภิเษกสำหรับการพระราชพิธีราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะผินพระพักตร์สู่ทิศบูรพา เป็นราชประเพณีมาแต่โบราณเพื่อยังความผาสุกสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ทวยอาณาประชาราษฎรทุกหมู่เหล่า และความวัฒนามั่นคงของประเทศชาติ

related