svasdssvasds

เข้าใจ โรคจิตเวช ! ทำอย่างไร ถ้าคนใกล้ตัว กลายเป็นผู้ป่วย ?

คุยกับ นพ.วิญญู รองผู้อำนวยการฯ สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา หากเข้าใจและรู้ทัน “โรคจิตเวช” ก็ไม่ได้น่ากลัว อย่างที่หลายคนคิด

ถ้าวันหนึ่ง คนใกล้ตัวคุณ กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช คุณจะรับได้หรือเปล่า ?

หรือวันหนึ่ง คุณกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช คิดว่าคนใกล้ตัวคุณ จะรับได้ไหม ?

แม้จะเป็นคำถามที่หดหู่ และโหดร้าย แต่ชีวิตมักเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ไม่คาดคิด เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งสาเหตุของความกลัว อาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ ฉะนั้น สปริงนิวส์ จึงขออาสาพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักโรคจิตเวช จากการพูดคุยกับ นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ที่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

เข้าใจ โรคจิตเวช ! ทำอย่างไร ถ้าคนใกล้ตัว กลายเป็นผู้ป่วย ?

โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย ที่มาของคำว่า “หลังคาแดง”

นพ.วิญญู กล่าวว่า “สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา ถือว่าเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2432 ปีนี้ก็เป็นปีที่ 130 ชื่อหลังคาแดง ก็เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกที่นี่ในสมัยก่อน เพราะหลังคาและอาคารต่างๆ ทาสีแดง

“ภารกิจของเราก็คือให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือมีปัญหาทางด้านจิตเวช และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านระบบประสาท ทางด้านเรื่องการทำงานของสมอง”

โดยสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบันนี้ นพ.วิญญู กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีผู้เข้าถึงและเข้ารับบริการมากขึ้น เพราะประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น แล้วก็กล้าที่จะมาขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ

“ในสมัยก่อนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่อยากจะให้ใครรู้ แต่สมัยนี้เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น มันก็เหมือนอาการเจ็บปวดธรรมดา ถ้าเราเจ็บป่วย ก็ต้องหาคนช่วย แล้วเราก็สามารถกลับไปเป็นปกติได้ ทำให้มีผู้มารับบริการมากขึ้น

“และอัตราการเกิดโรคไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ยกเว้นบางโรค เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด หรือสุรา ที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นตามสภาพของสังคม”

เข้าใจ โรคจิตเวช ! ทำอย่างไร ถ้าคนใกล้ตัว กลายเป็นผู้ป่วย ?

สาเหตุของโรคจิตเวช

ส่วนสาเหตุของโรคนั้น นพ.วิญญู กล่าวว่า “เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่คาดว่า เกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน มีปัจจัยในด้านต่างๆ ที่มารวมในขณะที่พอเหมาะ มันก็เกิดเป็นอาการป่วยขึ้นมา”

ปัจจัยที่ 1 ทางด้านกายภาพ เช่น กรรมพันธ์ุ คุณพ่อคุณแม่เป็นโรคนี้อยู่ ความผิดปกติของระบบประสาท สมอง การทำงานของสมอง หรือเป็นระบบอื่นๆ ของร่างกาย การใช้สารที่มันออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่ว่าจะเป็นสุรา เป็นยาเสพติดต่างๆ นี่คือปัจจัยแรก

ปัจจัยที่ 2 ทางด้านจิตใจ การเลี้ยงดูมาในวัยเด็ก การพัฒนาบุคลิกภาพ บุคคลผู้นั้นมีการเข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ มากน้อยแค่ไหน มีความสามารถที่จะกลับมาเดินหน้าต่อไป เมื่อเจออุปสรรคต่างๆ มากน้อยอย่างไร

ปัจจัยที่ 3 ทางด้านสังคม เช่น สังคมมีการช่วยเหลือ เอื้ออาทรกันไหม สังคมมีความบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ อย่างไร

“ในหลายๆ ปัจจัยนี่ คนไหนที่มันมีส่วนผสมเหมาะเจาะในทางไม่ดี ก็อาจจะเกิดเป็นโรคขึ้นมา” นพ.วิญญูกล่าว

เข้าใจ โรคจิตเวช ! ทำอย่างไร ถ้าคนใกล้ตัว กลายเป็นผู้ป่วย ?

การแบ่งประเภทผู้ป่วย

นพ.วิญญู อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า มีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือป่วยน้อย กับป่วยหนัก อาการของกลุ่มผู้ป่วยน้อย อาทิ นอนไม่หลับ ไม่สบายใจ วิตกกังวลต่างๆ บางคนอาจจะถึงขั้นซึมเศร้า กลุ่มนี้มาตรวจรักษา บำบัดด้วยวิธีต่างๆ ให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน มีการทำจิตบำบัด ให้คำปรึกษา แล้วอาการก็ดีขึ้น

"แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นค่อนข้างมาก บางครั้งถึงขั้นว่า เหมือนเขาไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง มีความคิดความอ่านที่มันหลุดออกไป เช่น อาจจะมีประสาทหลอน มีคนมาคุยด้วย เขาก็คุยคนเดียว ทำท่าทำทางแปลกๆ หรือบางครั้งมีอาการก้าวร้าว วุ่นวาย แบบนี้เราก็เรียกว่าเป็นหนัก ส่วนใหญ่ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง"

เข้าใจ โรคจิตเวช ! ทำอย่างไร ถ้าคนใกล้ตัว กลายเป็นผู้ป่วย ?

สัญญาณเตือน ให้เข้ารับการรักษา

โรคจิตเวช หากได้รับการรักษาเนิ่นๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเร็วยิ่งขึ้น โดย นพ.วิญญู ได้ให้คำเเนะนำว่า “โรคทางจิตเวชนี่ เราสังเกตง่ายๆ ว่า เรามีความไม่สบายใจ เราเป็นทุกข์ แล้วมันมากกว่าคนทั่วไป มากกว่าที่เราเคยเป็นมาก่อนหรือไม่

“เช่น เราอาจจะเครียดเรื่องเรียน แต่เมื่อผลการเรียนออก มันก็ควรจะจบ เเต่ถ้ามันยังไม่จบ ความทุกข์มันเรื้อรัง ก็ให้เริ่มสังสัยว่า เราอาจจะต้องหาคนช่วย

“อีกประการก็คือว่า ถ้าหน้าที่การงานของเรามันด้อยลง จากความทุกข์อันนี้ เช่น ทำงานไม่มีประสิทธิภาพเลย ผลการเรียนแย่ลงมากๆ แบบนี้ ผมคิดว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราขอรับความช่วยเหลือ"

ปัจจุบัน มีสถานบำบัดผู้ป่วยจิตเวช ครอบคลุมทุกจังหวัด และสามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาได้ ซึ่ง นพ.วิญญูกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราดูแลกันเองในครอบครัวก่อน เห็นลูกหลาน เห็นบุคคลในครอบครัวเราเริ่มมีความทุกข์ มีเรื่องเครียด มีความกดดัน พูดคุยกันก่อน ช่วยเหลือกันภายในครอบครัวก่อน ถ้าไม่ได้ ก็ไปขอความช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป มันก็จะเป็นการป้องกันปัญหา คือถ้ามาตามแก้ ผมว่ามันก็ยากกว่า”

และทั้งหมดนี้ ก็คือข้อมูลและคำแนะนำดีๆ จาก นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการสุขภาพจิตและจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่ทำให้เห็นว่า นอกจากการรักษาตามกระบวนการแล้ว ความเข้าใจ และความรัก จากคนใกล้ตัว หรือครอบครัว ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวช กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในสังคมต่อไป

related