svasdssvasds

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ข่าวการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เราต่างตระหนักรู้ถึงภัยในพื้นที่ “อับอากาศ”เพราะเพียงเสี้ยววินาทีของการตัดสินใจอาจหมายถึงชีวิตทั้งชีวิตก็เป็นได้

จากสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศ ของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี2546-2557 พบว่าเกิดเหตุขึ้น 14 ครั้งมีจำนวนผู้เสียชีวิต 45 ราย เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม 10 ครั้ง นอกโรงงาน 4 ครั้งโดยที่สถิติคนงานประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกปี และช่วงนี้หลายคนคงจะได้ยินคำว่า อับอากาศอยู่บ่อยครั้งและอาจจะสงสัยว่าอับอากาศคืออะไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกัน

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

อับอากาศ หรือ Confined Space ตามความหมายของกฎกระทรวง ให้คำจำกัดความไว้ว่า “เป็นที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะและปลอดภัย” 

แล้วที่ไหนบ้างที่จะถูกเรียกว่าที่อับอากาศยกตัวอย่างเช่นอุโมงค์ ถ้ำ บ่อหลุมห้องใต้ดินห้องนิรภัย ถังน้ำมันถังหมัก ถังไซโล ท่อ เตา เป็นต้นและถ้ามีสารเคมีหรือก๊าซที่ติดไฟได้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดความอันตรายมากขึ้นในการทำงานในที่อับอากาศ

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

อันตรายอยู่ใกล้ตัวและพร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทำอยางไรจึงจะปลอดภัยเมื่อลองค้นหาข้อมูลไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าในประเทศไทยมีศูนย์ฝึกอบรมโดยเฉพาะอยู่หลายแห่งครั้งนี้เราจึงเลือกขอเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การฝึกอบรมการทำงานในที่อับอากาศอย่างปลอดภัย ณ ศูนย์ฝึกปฏิบัติงาน 3 เอ็มตรงนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยศูนย์ฝึกแห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นศูนย์ฝึกที่ผ่านการรับรองหลักสูตร คุณภาพและมาตรฐานจากกระทรวงแรงงานในแต่ละปีจะมีคนแวะเวียนเข้ามาฝึกฝนที่นี่กว่าพันคน

เมื่อเข้าไปภายในพื้นที่ฝึกอบรม ก็จะพบกับคุณธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยบริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด ที่จะมาให้ข้อมูลกับเราโดยเริ่มตั้งแต่ภาคทฤษฎีจนกระทั่งภาคปฏิบัติ

โดยก่อนจะเข้าไปทำงานในที่อับอากาศผู้เชี่ยวชาญ 3 เอ็ม ย้ำกับเราว่าบริเวณที่เป็นที่อับอากาศจะต้องติดป้ายบอกไว้ให้ชัดเจนว่า จุดนี้คือ“ที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า”

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

ส่วนสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ที่ทำงานในที่อับอากาศคือผู้อนุญาติ ผู้ควบคุมผู้ปฏิบัติและผู้ช่วยเหลือมีดังนี้

1. ตรวจสอบสภาพร่างกายให้พร้อมกับการลงไปปฏิบัติงานในที่อับอากาศโดยผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขภาพร่างกาย และภาวะทางจิตปกติ ต้องไม่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ประเภท PHOBIA ที่กลัวที่มืดที่แคบหรือกลัวความสูง

2. ตรวจสอบอุปกรณ์การทำงาน และอุปกรณ์ช่วยชีวิตทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน

3. ตรวจสอบสภาพอากาศภายในที่อับอากาศว่าปลอดภัยต่อการทำงานหรือไม่ โดยออกซิเจนจะต้องมากกว่า 19.5% หรือไม่เกิน 23.5% โดยประมาณ อุปกรณ์ตรวจวัดอากาศจะต้องเป็นสิ่งแรกที่เข้าไปในพื้นที่ และขึ้นมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่คนสุดท้ายเสมอ

วิธีประเมินแบบง่ายๆ ว่าอากาศในพื้นที่เป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ มีเพียงพอหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ดูจากกลุ่มผู้ที่เราจะลงไปช่วยเหลือหากลงไป 3 คนหมดสติทั้ง 3 คน หมายความว่าอากาศบริเวณนั้นมีโอกาสเป็นพิษ แต่ถ้าลงไป 3 คน แล้วหมดสติ 1 คนหมายความว่า อากาศบริเวณนั้นอาจจะไม่มีพิษ แต่อาจจะเบาบางไม่เพียงพอ เมื่อเรารู้ข้อมูลเบื้องต้นก็จะนำไปสู่การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่พื้นที่กัน

4. ในกรณีที่พบว่าที่อับอากาศมีสารเคมีที่เป็นอันตราย เราควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นสารเคมีประเภทใด เพื่อเตรียมตัวรับมือได้ถูก

5. เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นในที่อับอากาศกรณีมีสารเคมีที่อันตราย ควรรีบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างรวดเร็ว ภายใน 4 นาที เพราะการขาดอากาศหายใจในเวลานานอาจทำให้สมองได้รับอันตรายได้

6. ไม่ควรช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุในที่อับอากาศด้วยตนเอง โดยขาดอุปกรณ์ช่วยชีวิตเด็ดขาด

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

สำหรับการแต่งกายเพื่อเข้าพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องนั้น ต้องประกอบด้วยชุด Safety แว่นตา หมวกถุงมือ ถังอากาศหน้ากากกันสารพิษและชุดที่ใส่อุปกรณ์ที่ต้องไม่รัดผู้สวมใส่แน่นจนเกินไป เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี ส่วนอุปกรณ์หลักๆ จะมีลักษณะเป็นแบบ 3 ขา หรือ 4 ขา แล้วแต่รุ่น และมีสายสำหรับการโรยตัวลงในพื้นที่ เมื่อตรวจสอบว่าอุปกรณ์คล้องกับฐานและยึดผู้ปฏิบัติงานกันดีแล้วก็ถึงเวลาเข้าสู่พื้นที่อับอากาศ ที่สำคัญคือ “ภาษามือ” คืออีกสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ลงไปช่วยเหลือกับผู้ที่อยู่ด้านบนที่จะต้องสื่อสารกันตลอด

การชูนิ้วชี้ขึ้น หมายถึงผู้ปฏิบัติงานยังมีสติอยู่หากนิ้วชี้ตก หมายถึง หมดสติ

กรณีที่ต้องการให้หยุดผู้ปฏิบัติงานจะต้องกำมือ และเมื่อเท้าถึงพื้น จะต้องแบมือ

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

หลังจากที่เข้าไปในสถานที่อับอากาศแล้วการช่วยเหลือจะต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด โดยกรณีอากาศไม่มีพิษ แต่มีผู้บาดเจ็บ อาจจะแขนหัก ขาหักศีรษะแตก จะต้องปฐมพยาบาลก่อนเคลื่อนย้ายจากนั้นจะใช้รอกเกี่ยวผู้บาดเจ็บกับตัวผู้ช่วยเหลือเพื่อช่วยพยุงร่างกายให้ขึ้นสู่พื้นที่ปลอดภัย

ส่วนกรณีที่อากาศเป็นพิษ แม้ว่าจะได้รับบาดเจ็บแค่ไหน เจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้รีบเคลื่อนย้ายทุกคนออกมาก่อน แล้วจึงมาปฐมพยาบาลภายนอกเพื่อรักษาชีวิตของทุกคนเอาไว้

รู้ไว้ใช่ว่า...  ข้อควรรู้การทำงาน ในที่อับอากาศ

ก่อนกลับบ้านคุณธวัชชัยทิ้งท้ายให้เราพึงระลึกเสมอว่า “ในพื้นที่อับอากาศการเตรียมพร้อมและใส่ใจคือสิ่งจำเป็น แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับเรื่องระยะเวลาในการอบรมไว้ก็ตาม แต่โดยหลักการผู้ที่ต้องทำงานในที่อับอากาศควรได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิตเพราะทุกชีวิตสำคัญเท่าเทียมกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

related