svasdssvasds

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

สรุป การชี้แจงจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำไมไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

จากกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX ทำเกิดคำถามดราม่าต่างๆ ตามมามากมาย

ต่อมาได้มีการออกมาชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สปริงขอสรุปถึงเหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX โดยนำข้อมูลของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มานำเสนอดังต่อไปนี้

1.  COVAX คืออะไร ?

อันดับแรก เรามาทำความรู้จักกับโครงการนี้กันก่อน COVAX ย่อมาจาก COVID-19 Vaccine Global Access Facility เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวย กับยากจน   

โครงการดังกล่าวเกิดจากการผนึกกำลังของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก เมื่อช่วงเดือนเมษายน ปีที่แล้ว  

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

2. ประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ฟรี จาก COVAX มีเงื่อนไขอย่างไร ?

ประเทศจะได้รับวัคซีน จากการจัดสรรของ COVAX แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

2.1 ประเทศรายได้ต่ำ - ปานกลาง

โดยกลุ่มประเทศนี้ COVAX จะจัดสรรวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ฟรี

2.2 ประเทศรายได้รายปานกลางค่อนข้างสูง ขึ้นไป

ส่วนประเทศในกลุ่มนี้ หากต้องการวัคซีนที่จัดสรรโดย COVAX จะต้องสั่งจอง และเสียค่าธรรมเนียม ดังนี้

- การจองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ ค่าธรรมเนียม = 1.6 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 โดส

- การจองแบบเลือกผู้ผลิตได้ ค่าธรรมเนียม  = 3.5 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 โดส

แบ่งออกเป็น ค่าธรรมเนียม 1.6 เหรียญสหรัฐ ค่าประกันความเสี่ยง 0.4 เหรียญสหรัฐ และอื่นๆ 1.9 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 โดส

มีหมายเหตุว่า ค่าธรรมเนียมจะคิดเพิ่มจากราคาวัคซีน โดยคิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจเรียกเก็บเพิ่ม หากมีค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าที่เรียกเก็บ แต่จะไม่คืนส่วนต่าง หากค่าใช้จ่ายจริง น้อยกว่าที่เรียกเก็บครั้งแรก

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

3. ทำไมไทย ไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนฟรีจาก COVAX ?

ประเทศทั้ง 9 ในอาเซียน ที่เข้าร่วมโครงการ COVAX ประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ

3.1 ประเทศรายได้ต่ำ -ปานกลาง : ได้รับวัคซีนฟรี

ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้าเงื่อนไขนี้ มี 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา , อินโดนีเซีย , ลาว , เมียนมา , ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ส่วนไทยไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว เพราะได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลก ให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

3.2 ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ขึ้นไป : ต้องจ่ายเงินจอง

ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ แต่ต้องจ่ายเงินจอง มี 3 ประเทศ ได้ แก่ สิงคโปร์ , บรูไน และมาเลเซีย

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

4. ทำไมไทยไม่จ่ายเงินจองวัคซีนกับ COVAX ? :  เหตุผลที่ 1 ไม่มีอิสระในการเลือกที่แท้จริง

ตามที่กล่าวไปแล้ว การจองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ  การจองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ กับเลือกผู้ผลิตได้

โดยสถาบันวัคซีนฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้จะจองแบบเลือกผู้ผลิตได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีอิสระในการเลือกอย่างแท้จริง โดยการจองแบบเลือกผู้ผลิตได้ เปิดโอกาสให้ 2 รอบ คือ

4.1 รอบที่ 1 : COVAX จะประกาศรายชื่อวัคซีนให้ผู้ซื้อเลือก ในกรณีที่ผู้ซื้อตัดสินใจจอง COVAX ก็นำเงินที่ผู้ซื้อได้จ่าย ไปจองล่วงหน้าให้ก่อน และมีสิทธิตัดสินใจอีกครั้ง ในรอบที่ 2

ในกรณีที่ไม่สนใจรายชื่อผู้ผลิตวัคซีนที่ COVAX เสนอให้ ผู้ซื้อต้องรอการประกาศตัวเลือกในรอบถัดไป ทำให้ได้วัคซีนช้าลง

4.2 รอบที่ 2 : COVAX เปิดโอกาสให้ตัดสินใจว่า จะทำสัญญาซื้อกับผู้ผลิตวัคซีน ที่ได้ทำการจองไว้หรือไม่ ในกรณีที่เลือกทำสัญญา ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ตามราคาจริง และได้รับค่าประกันความเสี่ยงคืน

แต่หากเลือกไม่ทำสัญญา ผู้ซื้อก็จะเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าทั้งหมด

5. ทำไมไทยไม่จ่ายเงินจองวัคซีนกับ COVAX ? : เหตุผลที่ 2 ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก

นอกเหลือจากค่าจองวัคซีนแล้ว สถาบันวัคซีนฯ ได้ระบุว่า ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก อาทิ ค่าขนส่งวัคซีน , ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนภายในประเทศ และภาษี เป็นต้น

6. ทำไมไทยไม่จ่ายเงินจองวัคซีนกับ COVAX ? : เหตุผลที่ 3 ไม่มีอำนาจต่อรอง

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า ตลาดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน แม้ผู้ผลิต (ผู้ขาย) มีอำนาจต่อรองสูงมาก แต่การซื้อวัคซีนกับผู้ผลิตโดยตรง ยังสามารถต่อรองได้ตามสมควร ในขณะที่การซื้อวัคซีนผ่าน COVAX ผู้ซื้อไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลย

สรุป เหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนของ COVAX

7. ข้อดี ของการสั่งจองกับผู้ผลิตโดยตรง

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ให้เหตุผลว่า การสั่งจองกับผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นกว่า และมีข้อดี ดังต่อไปนี้

7.1 สามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ ตามแต่ตกลง

7.2 สามารถต่อรองราคาได้ โดยราคาวัคซีนต่อโดส อาจลดลง หากมีการสั่งซื้อในปริมาณที่มากขึ้น

7.3 สามารถต่อรองเงื่อนไขได้ และขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร

8. ข้อสงสัยทิ้งท้าย

จากการชี้แจงของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ส่วนที่เคลียร์ก็คือในแง่ที่ว่า ทำไมไทยไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนฟรีจาก COVAX เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

แต่ในส่วนของการสั่งจอง ที่สถาบันวัคซีนฯ ระบุว่า ไม่มีอิสระที่แท้จริง และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งตามกลไกตลาดในปัจจุบัน ที่ “ความต้องการซื้อ มากกว่าความต้องการขาย” ทำให้อำนาจต่อรองของผู้ขาย ย่อมมากกว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นความแตกต่างในด้านนี้ ระหว่างการซื้อผ่าน COVAX กับซื้อผ่านผู้ผลิตโดยตรง ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก

ประกอบกับนโยบายของ COVAX ที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก ต้องการให้ทุกประเทศได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม สำหรับประเทศรายได้ต่ำ ก็เป็นในลักษณะการจัดสรรวัคซีนให้ฟรี

ส่วนประเทศที่รายได้ปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไป วัคซีนที่ซื้อผ่าน COVAX ก็มีแนวโน้มว่า ถูกกว่าการซื้อกับผู้ผลิตโดยตรง เพราะผู้ผลิตวัคซีนหลายบริษัท ได้จัดสรรวัคซีนจำนวนหนึ่งขายให้กับ COVAX ในราคาเท่าทุน

และหากถามในมุมกลับว่า แล้วทำไม สิงคโปร์ , บรูไน และมาเลเซีย ที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไปในกลุ่มอาเซียน ที่นอกจากมีการสั่งจองโดยตรงกับผู้ผลิตแล้ว ยังสั่งจองกับ COVAX อีกด้วย... นั่นเพราะเหตุผลกลใด ?

related