svasdssvasds

เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย

เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย

ยิ่งเจาะลึก ยิ่งเห็นถึงความซับซ้อน ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เชื่อมโยงกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ยังยากจะคาดเดาว่า บทสรุปสุดท้ายจะลงเอยเช่นไร

นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดี สำหรับการประกาศถอย ค่าโดยสารไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีอัตราสูงสุด 104 บาท เดิมจะเริ่มเก็บ 16 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนที่ กทม. จะประกาศเลื่อนออกไปก่อน

แม้จะอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ในความเป็นจริง ก็อย่างที่รู้ๆ กัน มีกระแสคัดค้านดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยื้อยิ่งเจ็บ และมีแนวโน้มว่า ประเด็นนี้อาจทำให้รัฐบาลพลอยอ่วมไปด้วย อันเนื่องมาจาการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ที่กำลังจะถึงนี้  

และจากการที่สปริงได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด มีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ , สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส , โสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ รวมถึงผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายดังกล่าว

ทำให้เห็นเงื่อนปมของปัญหาที่ซับซ้อน ที่สปริงขออธิบายอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังต่อไปนี้

1. ค่าโดยสาร 104 บาท มีที่มาอย่างไร ?  

รถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น สัมปทานเดิม ที่บีทีเอสดำเนินงาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-ตากสิน ซึ่งไม่ได้ขึ้นค่าโดยสาร ยังคงเก็บ 16 – 44 บาท โดยอัตราสูงสุด ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันอยู่ที่ 59 บาท  กับส่วนต่อขยายที่ กทม. ดำเนินงาน ประกอบด้วย

- ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-บางหว้า

- ส่วนต่อขยายใหม่ ช่วงแบริ่ง - เคหะฯ สมุทรปราการ

- ส่วนต่อขยายใหม่ ช่วงหมอชิต-คูคต

โดยส่วนต่อขยายใหม่ ได้มีการสร้างและทยอยเปิดสถานีให้บริการฟรี ตั้งแตปี 2561 กระทั่งสร้างเสร็จอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว และประกาศว่า จะเก็บค่าโดยสารตั้งแต่ต้นปี 2564 ก่อนเลื่อนออกไป

โดยในส่วนต่อขยายใหม่ อัตราค่าโดยสารในแต่ละช่วงอยู่ที่ 15 - 45 บาท ซึ่งถ้ามีการเก็บ “ค่าแรกเข้า” จุดเชื่อมต่อต่างๆ ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็จะพุ่งไปอีก จึงกำหนดให้มีการเก็บ “ค่าแรกเข้า” เพียงครั้งเดียว ทำให้ค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 104 บาท (ในกรณีที่มีการเก็บค่าโดยสาร)

เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย

2. ปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่ยังคาราคาซัง + กทม.หนี้บาน

อันที่จริง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อัตราสูงสุด จะไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการต่อสัมปทาน จากปี 2572 – 2602

แม้ กทม. จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนต่อขยายใหม่ แต่ก็ได้ว่าจ้างเอกชนให้ทำการก่อสร้างและดำเนินการแทน โดยเปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก

แต่ปัญหานี้จะหมดไปทันที ถ้าการต่อสัมปทานผ่านความเห็นชอบของ ครม. เพราะเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า เอกชนจะเป็นผู้รับภาระหนี้ อีกทั้ง กทม. ยังได้รับผลประโยชน์ร่วม 2 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน

แต่ปัญหาก็คือ สัญญาดังกล่าว ยังไม่สามารถส่งเข้าที่ประชุม ครม. ได้ อันเนื่องมาจากถูกท้วงจากกระทรวงการคมนาคม 4 ข้อ โดย 1 ในนั้นก็คือ อัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ยังแพงเกินไป

และเมื่อยังไม่มีวี่แววว่า การต่อสัมปทานจะได้รับการอนุมัติเมื่อไหร่ ประกอบกับภาวะหนี้อ่วมของ กทม. จึงเป็นที่มาในการประกาศค่าโดยสารสูงสุด รถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ทำให้ กทม.ถูกมองว่า ผลักภาระให้กับประชาชน

อีกทั้งยังทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเกมบีบกระทรวงคมนาคม ไม่ให้ทักท้วง เพื่อให้การต่อสัมปทานผ่านโลดหรือไม่ ?

ซึ่งจากการที่สปริงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสhttps://www.facebook.com/SpringNewsonline/videos/343834563356126 ก็ได้สอบถามในประเด็นดังกล่าว

โดยทางผู้บริหารบีทีเอส ได้ปฏิเสธว่า การเก็บค่าโดยสารอัตราสูงสุด ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทแต่อย่างใด เพราะในส่วนที่บีทีเอสดูแล ก็ยังคงเก็บอัตราเดิม 16 -44 บาท แต่ที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากมีการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายใหม่ ที่ กทม. เป็นผู้ดำเนินการ

เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย

3. กระทรวงการคมนาคม เห็นชอบให้ต่อสัมปทาน ก่อนกลับลำ

ยิ่งสปริงเจาะลึก ก็ยิ่งเห็นถึงความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังก็พบว่า กระทรวงการคมนาคม เคยส่งหนังสือถึง ครม. เห็นชอบกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 : 24 ตุลาคม 2562 เห็นชอบให้ต่อสัมปทาน

ครั้งที่ 2 : 30 มีนาคม 2563 ยืนยันเห็นชอบ

ครั้งที่ 3 : 9 มิถุนายน 2563 ยืนยันเห็นชอบ

3.1 การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ต่อมา รฟม.หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการจัดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้

10 – 24 กรกฎาคม 2563 : รฟม. เปิดให้ผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูล

27 สิงหาคม 2563 : คณะกรรมการคัดเลือก แจ้งเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินผู้ได้รับสัมปทาน หลังจากมีเอกชนรายหนึ่งยื่นคำร้อง

17 กันยายน 2563 : บีทีเอสยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ต่อศาลปกครองกลาง

19 ตุลาคม 2563 : ศาลปกครองกลาง สั่งให้ทุเลาหลักเกณฑ์การประเมินผู้ได้รับสัมปทานใหม่

2 พฤศจิกายน 2563 : รฟม. ยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด

9 พฤศจิกายน 2563 : กลุ่มบีอีเอ็ม และบีทีเอส ยื่นซองประมูล

3.2 การทักท้วงต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

จากที่ก่อนหน้านั้น กระทรวงการคมนาคม มีหนังสือถึง ครม. ว่า เห็นชอบมาโดยตลอดถึง 3 ครั้ง แต่แล้ววันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ก็กลับลำ พร้อมข้อทักท้วง 4 ข้อ

ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้เลื่อนการพิจารณาเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนจะมีมติให้ยกเลิกการประมูล ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่รอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด

เงื่อนปมที่ซับซ้อน ค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 ก่อน กทม.ประกาศถอย

4. เกมยังไม่จบ !

ทั้งการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ณ เวลานี้ ก็ยังยากจะคาดเดาว่า บทสรุปสุดท้ายจะลงเอยเช่นไร

แต่ด้วยรถไฟฟ้า เป็นขนส่งมวลชนที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก ดังนั้นในดำเนินการต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน

ที่สำคัญ อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่า ตัวเองตกเป็นตัวประกัน เพราะไม่ได้ส่งผลดีกับรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง แต่อย่างใด

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

เจาะลึก ตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว แพงเว่อร์ 104 บาท ปัญหาเกิดจากอะไร ?

กทม. VS คมนาคม สรุปปมปัญหา ค่ารถไฟฟ้าฯ พุ่งเป็น 104 บาท ?

ศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ! เปิด 4 ประเด็น คมนาคม ค้าน กทม. ต่อสัญญาสัมปทาน

บีทีเอส ตอบทุกข้อสงสัย ปมดราม่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า อัตราใหม่ 104 บาท

ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?

บังเอิญหรือไม่ ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับล้มประมูลรถไฟฟ้าสายส้ม

เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม

บีทีเอส เปิดใจครั้งแรก ปมดราม่า ค่ารถไฟฟ้าแพง

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ค่าตั๋วเพิ่ม สูงสุด 104 บาท ผู้โดยสารคิดเห็นอย่างไร ?

related