svasdssvasds

ปริญญา ชี้ มาตรา 114 ให้อิสระ ส.ส.ในการโหวต ประชาชนต้องมาก่อนมติพรรค

ปริญญา ชี้ มาตรา 114 ให้อิสระ ส.ส.ในการโหวต ประชาชนต้องมาก่อนมติพรรค

ผศ.ดร. ปริญญา ชี้ มาตรา114 ให้อิสระ ส.ส.ในการโหวตในสภา เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองผูกมัดผู้แทนปวงชน หาก ส.ส. คนใดทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต แล้วโดนพรรคการเมืองเล่นงาน ก็สามารถอ้างมาตรา 114 มาคุ้มครอง ชี้ การงดออกเสียง ก็ถือว่าเป็นมารยาททางการเมืองแล้ว

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน ตามมาตรา 114 ดังต่อไปนี้  

มาตรา 114 กับหลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน

หลักอิสระอาณัติ ของผู้แทนปวงชน ก่อนจะลงโทษอะไร ให้อ่านมาตรา114 ก่อนครับ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.นั้นมีสถานะตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 114 ได้รับรองและคุ้มครองสถานะและการทำหน้าที่ของ “ผู้แทนปวงชน” ของ ส.ส. เอาไว้ดังนี้

คือ “มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ปริญญา ชี้ มาตรา 114 ให้อิสระ ส.ส.ในการโหวต ประชาชนต้องมาก่อนมติพรรค

ประโยชน์ของปวงชน ต้องมาก่อนประโยชน์ของพรรคการเมืองที่สังกัด

ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 นี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ประโยชน์ของปวงชนจะต้องมาก่อนประโยชน์ของพรรคการเมืองที่สังกัดเสมอ แม้จะสังกัดพรรครัฐบาล แต่ถ้าเห็นว่ารัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ไม่กระจ่าง “ผู้แทนปวงชน” ก็ควรสามารถที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองโดยเอาประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนเป็นที่ตั้งว่า ควรจะไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้นหรือไม่ กลุ่มดาวฤกษ์ งดออกเสียงโหวต ศักดิ์สยาม ปมแจงรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชัด

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าหลัก Free Mandate หรือหลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน ซึ่งมีอยู่ในทุกประเทศที่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ เพราะหลักนี้ทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายสภาและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เผด็จการโดยพรรคการเมือง ที่ทำให้รัฐบาลสามารถใช้สิ่งที่เรียกว่า มติพรรค ไปครอบงำผู้แทนปวงชนได้อย่างสิ้นเชิง จนสภาผู้แทนราษฏรแทบจะไปถ่วงดุลอะไรรัฐบาลไม่ได้เลย เนื่องจากมีเพียงฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลที่ยกมืออย่างไรก็แพ้

ประเทศบางประเทศที่เคยมีบทเรียนกับเผด็จการโดยพรรคการเมือง เช่น ประเทศเยอรมนี ที่เคยมีพรรคนาซีที่ครอบงำ ส.ส. ได้หมด จนทำให้บ้านเมืองถึงกับหายนะมาแล้ว จึงถือเป็นหลักเลยว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้ ส.ส.ยกมือในสภาอย่างไรนั้นถึงกับเป็นโมฆะเลยทีเดียว

ประเทศไทยไม่ถึงขนาดประเทศเยอรมัน มติพรรคมีได้ แต่ตามมาตรา 114 จะมาครอบงำหรือผูกมัดผู้แทนปวงชนไม่ได้ แล้วถ้าหาก ส.ส. คนใดทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตในฐานะผู้แทนปวงชน แล้วโดนพรรคการเมืองเล่นงานขึ้นมา ก็สามารถอ้างมาตรา 114 มาคุ้มครองตนเองได้ โดนพรรคการเมืองไม่อาจจะลงโทษในทางที่จะกระทบต่อการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนได้

ปริญญา ชี้ มาตรา 114 ให้อิสระ ส.ส.ในการโหวต ประชาชนต้องมาก่อนมติพรรค

ความแตกต่าง ระหว่าง “ผู้แทนปวงชน” กับ “งูเห่า”

เว้นเสียแต่ว่าการลงมติเช่นนั้นของ ส.ส. คนนั้น เป็นเรื่องการแลกรับผลประโยชน์ ถ้าแบบนั้นนอกจากมาตรา 114 จะไม่คุ้มครอง ก็ยังถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย

“ผู้แทนปวงชน” แตกต่างจาก “งูเห่า” ตรงนี้ ผู้แทนปวงชนตัดสินใจโดยเอาประโยชน์ปวงชนเป็นที่ตั้งอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตนประการใดมาเกี่ยวข้องด้วย ผมเห็นว่าเราควรให้เกียรติและคุ้มครอง ส.ส.ที่ทำหน้าที่ผู้ปวงชน ส่วน ส.ส. ที่เป็น “งูเห่า” ก็ควรต้องลงโทษ หากว่ามีหลักฐานอันพึงเชื่อได้ว่ามีการยกมือแลกรับผลประโยชน์เกิดขึ้นจริง

ลำพังเพียงแค่ลงมติแตกต่างจากมติพรรคจะไปลงโทษอะไรไม่ได้ แล้วถ้าจะพูดถึง “มารยาททางการเมือง” การงดออกเสียงก็ถือว่าเป็นมารยาททางการเมืองแล้วครับ

เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่า ส.ส. เป็น “ผู้แทนปวงชน” ไม่ใช่ผู้แทนพรรคการเมือง ส.ส. คำนึงถึงประโยชน์ของพรรคการเมืองได้ แต่ต้องมาทีหลังประโยชน์ของปวงชนครับ เทียบเหตุผล ดาวฤกษ์งดหนุนศักดิ์สยาม กับ ส.ส.ภูมิใจไทย งดโหวตให้บิ๊กตู่

ที่มา  FB : Prinya Thaewanarumitkul

related