svasdssvasds

เปิดไทม์ไลน์วันกองทัพเมียนมา : นองเลือดมากที่สุดสู่การอพยพสู่ฝั่งไทย

เปิดไทม์ไลน์วันกองทัพเมียนมา : นองเลือดมากที่สุดสู่การอพยพสู่ฝั่งไทย

เหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมาทวีความดุเดือด และดูจะกลายเป็นความวิปโยคไปแล้ว เพราะ วันกองทัพเมียนมา กลายเป็นวันที่มีประชาชนถูกสังหารมากที่สุดนับตั้งแต่มีการปฏิวัติ ตัวเลขคนตายเกิน 100 คน ในวันเดียว ขณะที่นานาชาติต่างร่วมประณามการกระทำของทางการเมียนมา...

วันกองทัพเมียนมา : วันนองเลือด

• วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม คือวันกองทัพเมียนมา โดยจัดขึ้นในวาระ ครบรอบ 76 ปี ของการขับไล่ "เผด็จการฟาสซิสต์" หรือกองทัพญี่ปุ่นออกจากดินแดนพม่าได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2488  โดยก่อนถึงวันกองทัพเมียนมา ทางคณะรัฐประหารประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวี  ตั้งแต่วันศุกร์ว่า หากประชาชนออกมาประท้วง มีสิทธิ์ถูกยิงที่ศีรษะ

 • แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวเมียนมายังออกมาประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ในเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองอื่นๆ ส่งผลให้ในวันเสาร์ มีผู้ถูกสังหารมากกว่า 100 ราย โดยนักเคลื่อนไหวระบุว่านี่เป็นวันที่ผู้คนถูกสังหารมากที่สุด นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามรายงานระบุว่าตัวเลขอยู่ที่ 114 ศพ ในวันเดียว, และนับตั้งแต่เริ่มการก่อรัฐประหาร เวลานี้มีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 400 คน และผู้ประท้วงมากกว่า3,000 คนถูกจับกุม   

ทหารเมียนมายิงผู้ประท้วงแล้วเผา 

• การสังหารคนจำนวนมากในวันเดียว ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้นานาชาติทั่วโลกต่างออกมาประณาม และวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของกองทัพ นักการทูตจากสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "ความรุนแรงอันน่าสยดสยอง" ขณะที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำเมียนมาร์ เปิดเผยว่า "วันกองทัพเมียนมาครั้งที่ 76 นี้ จะถูกจดจำในฐานะวันแห่งความหวดกลัว และเสื่อมเสียเกียรติยศ" 

 • เหตุการณ์สยดสยองที่สุดและนับเป็นความป่าเถื่อนของกองทัพเมียนมา คือเหตุการณ์ที่นาย อเย่ โค คุณพ่อลูก 4 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ถูกยิง จากนั้นทหารก็ลากตัวอเย่ โค โยนลงบนกองยางรถยนต์ที่ไฟกำลังลุกไหม้ และตอนนี้มีผู้เสียชีวิตต่ำลงเรื่อยๆ และมีเด็กอายุ 1 ขวบบาดเจ็บ ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่นัยน์ตา 

Fire2mammar
    

ท่าทีนานาชาติประณาม

• ในพิธีสวนสนามที่เนปิดอว์ มีผู้แทนจาก 8 ประเทศมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ รัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย แต่มีรัสเซียประเทศเดียวที่ส่งระดับรัฐมนตรีมา ทำให้ มิน อ่อง หล่ายผู้นำการก่อรัฐประหาร ได้กล่าวยกย่องรัสเซีย ในฐานะ "มิตรแท้" ของเมียนมา 

• ขณะเดียวกัน นานาชาติมีทั้งหมด 12 ประเทศแล้วที่ประณามการกระทำของกองทัพเมียนมา ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์,เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร ซึ่งปกติแล้ว ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มักจะไม่ค่อยแสดงท่าทีทางการทหาร แต่ครั้งนี้สองประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมา เพื่อต้องการกดดันคณะรัฐประหารเมียนมา 

• โดย โจ ไบเดน  ผู้นำสหรัฐฯ ประณามกองทัพเมียนมา ระบุว่าการนองเลือดในเมียนมาเป็นสิ่งที่รุนแรงเกินกว่าเหตุโดยสิ้นเชิง ไม่ควรมีใครต้องถูกสังหารจากเหตุการณ์เหล่านี้แม้แต่คนเดียว

 •  ในวันที่ 28 มี.ค มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพ เดินทางไปทำบุญ ที่พระธาตุสายเมือง จ.ท่าขี้เหล็ก และเดินทางต่อไปเชียงตุง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของกองทัพเมียนมาในรัฐฉานตะวันออก    

Firemaynmar

กะเหรี่ยง KNU ถล่มที่มั่นทหารเมียนมา

• ขณะเดียวกัน ในวันกองทัพเมียนมา กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) จากกองพลน้อยที่ 5 ตรงข้าม อ.แม่สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้เข้าโจมตีค่ายทหารเมียนมา กองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 342 หรือฐานที่มั่นตีมูต๊ะ ตรงข้ามชายแดนด้าน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการแสดงท่าทีไม่สนับสนุนคณะรัฐประหารเมียนมา ทำให้ทหารเมียนมาเสียชีวิต 5-6 ราย และบาดเจ็บ 20 ราย นอกจากนี้ยังจับกุมทหารเมียนมาได้อีกกว่า 20 คน

 • แต่ในเวลาต่อมา กองทัพเมียนมา "เอาคืน" ด้วยการได้ส่งเครื่องบินรบไปถล่มพื้นที่กองบัญชาการกองพลน้อยที่ 5 เคเอ็นยู โดยจุดที่ถูกถล่มชื่อเดโปโน (DePoNo) จังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง เป็นศูนย์ราชการของฝ่ายเคเอ็นยู และมีบ้านเรือนเสียหายจากการถูกไฟไหม้  และต่อมาทหารกะเหรี่ยงมีการอพยพชาวบ้านและผู้บาดเจ็บไปยังจุดที่ปลอดภัย ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ที่กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินโจมตีที่มั่นของเคเอ็นยู 

 • ต่อมา ช่วงบ่ายของ 28 มี.ค. ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านอีตูทะ และหมู่บ้านใกล้เคียง ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ในจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง กว่า 3,000 คน เริ่มอพยพออกจากหมู่บ้าน โดยนั่งเรือข้ามแม่น้ำสาละวิน ไปอาศัยอยู่ในเขตไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 

มิสแกรนด์วอนนานาชาติช่วย

• ด้าน ฮัน เล (Han Lay) มิสแกรนด์เมียนมา ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมาในช่วงแห่งสัปดาห์วิปโยค บนเวที Miss Grand International 2020  ในประเทศไทย โดยเธอเรียกร้องให้นานาชาติให้ความสนใจกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา จากการถูกกองทัพครอบงำ 

• โดย ฮัน เล พร้อมยอมรับต่อผลที่ตามมา แม้ว่านั่นจะหมายถึงการไม่สามารถกลับประเทศได้ก็ตาม ซึ่งเธออาจจะต้องอยู่ที่ไทยต่ออีกอย่างน้อย 1 เดือน

han lay

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

•เมียนมานองเลือด ทหารไล่ยิง มอเตอร์ไซค์ขับผ่าน ประชาชนพากันวิ่งหนีตาย

 ประท้วงเงียบ : เมียนมาพลิกยุทธวิธีต้านรัฐประหาร หลังเด็ก 7ขวบถูกยิงดับ

• จากจุดเริ่ม"รัฐประหาร"เมียนมา เบนเป้าไปนักลงทุนต่างชาติ : Whats next?

related