svasdssvasds

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้อง บีทีเอส ปม รฟม. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้อง บีทีเอส ปม รฟม. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องของ “บีทีเอส” ปม รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม นัดไต่สวน 27 กรกฎาคม และอาจยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย

เมื่อวานนี้ พ.ต อ.สุชาติ​ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า​ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้องของบีทีเอส กรณีผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลดังกล่าว เบื้องต้น​ ศาลฯ นัดไต่สวนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! บีทีเอส เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี)

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้องของบีทีเอส ปม รฟม.และคณะกรรมการ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

พ.ต อ.สุชาติ กล่าวว่า ศาลฯ ได้เปิดโอกาสให้ รฟม. ส่งคำแถลงภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ ในเบื้องต้น ศาลฯ นัดพร้อมในวันที่ 27 ก.ค.นี้ แต่อาจมีการเลื่อนนัดไต่สวน เนื่องจากต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่มั่นใจว่าคดีนี้จะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้

ขณะเดียวกันศาลฯ ยังได้มีการสอบถาม​ กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สอบสวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

โดย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความบีทีเอส ยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่เป็นการฟ้องร้องของบุคคลภายนอก ที่หยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะนำประเด็นนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่วนกรณีที่ รฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้บีทีเอสจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อระงับการประมูลหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะต้องดูเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่เสียก่อน

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เตรียมยื่นฟ้องเพิ่มเติม

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความบีทีเอส เปิดเผยว่า​ ขณะนี้บีทีเอสได้รับข้อมูลใหม่ว่ามีคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ม.36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย ซึ่งทีมทนายจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาต่อไป

อีกทั้งปัจจุบันทีมทนายยังอยู่ระหว่างประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกประกวดราคา เพื่อส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด

และแน่นอนว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการงานประมูลที่มีมูลค่าสูง เมื่อรัฐประกาศประมูล และมีเอกชนไปยื่นข้อเสนอ เอกชนต้องดำเนินการศึกษาข้อมูลโครงการ ทำรายละเอียดในการยื่นข้อเสนอ ถือเป็นการลงทุน การยกเลิกประมูลครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเสียหาย

related