svasdssvasds

โควิด-19 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยร่วงหนัก ลดลงต่ำสุดรอบ 8 เดือน

โควิด-19 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยร่วงหนัก ลดลงต่ำสุดรอบ 8 เดือน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 2564 ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน หลังโค-19 รอบ 3 ระบาดหนัก วอนรัฐเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชน ออกมาตรการเยียวยาทุกกลุ่ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.3 ในเดือนมีนาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวส์เหมือนกับการระบาดในระลอกแรก แต่วิกฤตโควิด-19 ระลอกที่สาม ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง     ทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการ Work From Home ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนยังมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงหนัก ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงหนัก

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 94.0 ในเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่สาม ที่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

ทั้งนี้มีจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,035 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 65.3, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 54.2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 50.1 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 48.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 31.2 ตามลำดับ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง

2. เร่งจัดซื้อและกระจายวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความ เชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

3. ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่สามอย่างเร่งด่วน ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

 

 

related