svasdssvasds

ชมรมแพทย์ชนบท ชี้ ทางรอดประเทศไทยอยู่ที่วัคซีน ไม่ใช่ล็อกดาวน์

ชมรมแพทย์ชนบท ชี้ ทางรอดประเทศไทยอยู่ที่วัคซีน ไม่ใช่ล็อกดาวน์

ชมรมแพทย์ชนบท ชี้ ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เดือนละ 15 ล้านโดส เพราะทางรอดประเทศไทยอยู่ที่วัคซีน ไม่ใช่ล็อกดาวน์ ก่อนตบท้าย “รัฐบาลประยุทธ์จะผลักดันให้เป็นจริงได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตนเองลาออกไป"

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 16 : 28-06-64 ข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทฉบับที่ 2 : วัคซีนต้องมีให้ฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส เพราะทางรอดประเทศไทยอยู่ที่วัคซีน ไม่ใช่ล็อกดาวน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 15 ล้านโดส

วัคซิเนชั่นและวิคตอรี่ ที่นายกประยุทธ์ชูสองนิ้วนั้นเป็นตลกร้ายที่ห่างไกลความจริง ความสามารถในการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนรวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน  เราทุกคนพร้อมลุยงานหนักสลับมาฉีดวัคซีนให้ได้ทุกวันไม่มีวันหยุด เพื่อให้ถึงเป้าที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่ปัญหาคือมีวัคซีนให้ฉีดน้อยเหลือเกิน

ตามแผนเดิมรัฐบาลตั้งการเป้าการจัดหาวัคซีนไว้ชัดเจนว่า มิถุนายนวัคซีนยังมีน้อย แต่ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไป  รัฐบาลจะได้แอสตร้าเซนเนก้า เดือนละ 10 ล้านโดส และซิโนแวค 3-5 ล้านโดส รวมเป็น 13-15 ล้านโดส  ซึ่งดูเป้าแล้วจะอุ่นใจสักนิด

แต่มาวันนี้ แอสตร้าจากสยามไบโอไซน์มีกำลังการผลิตที่น่าจะคงที่แล้วคือ เดือนละ 15 ล้านโดส (ลดลง 25% จากเดิมที่บอกไว้ที่ 20 ล้านโดสต่อเดือน) จำนวนเดือนละ 15 ล้านโดสที่ผลิตได้นี้ จะส่งมอบให้รัฐบาลไทยเพียงเดือนละ 4 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะต้องส่งออกตามสัญญา ความฝันที่เดือนละ 10 ล้านโดส จึงหดหายได้มาเพียง 40%เท่านั้น เล่นเอายอดจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคมที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ ไม่ลงตัว จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งยอดจัดสรรมาที่จังหวัด

ส่วนซิโนแวคนั้นดูชิวๆ  ขอให้รัฐบาลไทยจ่ายเงิน ประเทศจีนเขาพร้อมส่ง ดังข่าวการสั่งซื้อซิโนแวคอีก 28 ล้านโดส ดังนั้นการสั่งเพิ่มซิโนแวคมากกว่า 5 ล้านโดสต่อเดือนจึงเป็นไปได้แน่ แต่ที่แย่คือประสิทธิภาพของซิโนแวคที่ต่ำกว่าวัคซีนอื่นใด 

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า จอห์นสันแอนจอห์นสันนั้น  หากไม่นับล็อตเล็กที่มหามิตรอเมริกาอภินันทนาการทางการตลาดให้  ก็ต้องรอ ไม่ก่อนตุลาคม 2564 ซึ่งถึงตอนนั้นไทยคงระบาดจนย่ำแย่ไปแล้ว

ชมรมแพทย์ชนบท

ทางรอดประเทศไทยอยู่ที่วัคซีน ไม่ใช่ล็อกดาวน์

ชมรมแพทย์ชนบทได้คุยกันอย่างหนัก เราเห็นบุคลากรทางการแพทย์ ท้องถิ่น ท้องที่ และอสม. ต่างก็สู้ยิบตาควบคุมโรคในพื้นที่จนอ่อนล้า งานรักษาพยาบาลบนหอผู้ป่วยและ ICU ก็เหนื่อยแสนสาหัส

ทางรอดของประเทศก็ยังอยู่ที่ “วัคซีน”  ไม่ใช่การล็อคดาวน์ เราจะล็อคดาวน์ตัวเองไปได้กี่สัปดาห์ เศรษฐกิจก็จะล่มแล้ว ผู้คนจะอดตายกันอยู่แล้วนะ หากไม่เร่งระดมฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด  อย่าว่าแต่ 120 วันจะเปิดประเทศเลย ข้ามปี 2565 ก็เปิดประเทศไม่ได้

วัคซีนก็เสมือนเสื้อเกราะ ใครๆ ก็อยากได้เสื้อเกราะหนาๆอย่างดี เช่นไฟเซอร์ โมเดิร์นนา แต่กว่าจะได้มาก็ตุลาคม เราเคยนึกว่าเราจะมีเสื้อเกราะเกรดปานกลางคือ แอสตร้าเซนเนก้า อย่างเพียงพอแต่ก็ไม่จริงเสียแล้ว แต่ที่แน่ๆ เราสามารถซื้อเสื้อเกราะเกรดบางอย่าง ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ได้ไม่อั้น ขอให้มีเงินจ่ายก็พอ

เกราะบางนี้ก็พอไหว แม้จะป้องกันการติดเชื้อได้แม้ไม่ดีเท่า แต่ก็ลดการป่วยหนักและลดการตายลงได้  ที่แย่ก็คือซิโนแวค อย่างบางนี้ ราคาแพงหูฉี่ แพงพอๆ กับเสื้อเกราะอย่างหนานี่สิ แต่ดูเหมือนเราแทบจะไม่มีทางเลือก จะยอมใส่เกราะบางๆ หรือจะสู้โควิดแบบไม่มีเสื้อเกราะให้ใส่

วัคซีนโควิด-19

รัฐบาลต้องเร่งหาวัคซีนในทุกช่องทางมาให้เร็วและมากที่สุด

ประเทศไทยได้มาถึงจุดวิกฤต เราจะยอมรับการมีวัคซีนฉีดเพียงไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนไม่ได้อีกแล้ว ทั้งๆ ที่เราฉีดได้มากกว่า 15 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดหาวัคซีนในทุกช่องทางมาให้เร็วและมากที่สุด ให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส

และต้องพยายามในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสื้อเกราะอย่างหนาเช่นไฟเซอร์ โมเดิร์นนา มาให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้เร็วและมากที่สุดเช่นกัน นี่คือเป้าหมาย คือความอยู่รอดของประเทศ และคือตัววัดความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาล จะสอบตกถูกไล่ออกก็อยู่ที่ข้อสอบข้อนี้  แต่ถ้าสอบตกคนไทยทั้งประเทศก็พลอยตกเหวไปด้วย

บัดนี้เราคงต้องทำใจว่า “มันสายเกินไปแล้วสำหรับคนไทยที่จะสามารถเลือกวัคซีนได้” เกราะจะบางหรือปานกลางก็ต้องแย่งฉวยใส่กันป่วยกันตายไปก่อน วัคซิเนชั่นและวิคตอรี่ที่แท้จริง  ต้องฉีดวัคซีนเดือนละไม่ต่ำกว่า 15ล้านโดส โดยต้องพยายามให้เป็นซิโนแวคให้น้อยที่สุด นี่คือทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ รัฐบาลประยุทธ์จะผลักดันให้เป็นจริงได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตนเองลาออกไป

related