svasdssvasds

สื่อไม่ทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามเสนอเรื่องจริงสร้างความกลัว คุก2ปี ปรับ4หมื่น

สื่อไม่ทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามเสนอเรื่องจริงสร้างความกลัว คุก2ปี ปรับ4หมื่น

กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์ทางสังคม เมื่อ ไอลอว์ ออกคำเตือน มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนด ห้าม โพสต์เรื่องจริงสร้างความหวาดกลัว คุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร อย่างไรก็ตาม วิษณุ เครืองาม ยังยืนยันว่า หากเป็น ความจริง สื่อยังนำเสนอได้

คำเตือนจาก ไอลอว์
 
 เว็บไซต์และเพจ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือไอลอว์  โพสต์เกี่ยวกับข้อกำหนดใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง  โทษ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท  ระบุว่า ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขฉบับที่ 1 ในเรื่องข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก ห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด เพิ่มไปห้ามข้อความบิดเบือนที่ "กระทบความมั่นคงของรัฐ" และไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เตือนให้แก้ไขก่อน

ข้อกำหนดใหม่ครั้งนี้ ออกมาพร้อมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวันหลัก 8-9 พันคนมาหลายวัน และระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนถูกนำมาใช้อีกครั้ง พร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.

paper

 

 ความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด
.
    สำหรับ ข้อที่เป็นประเด็นและเป็นที่วิพากษ์ในวงกว้างของสังคม ก็คือ ข้อ 11 ซึ่งลงข้อความไว้ ดังนี้
    "ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548"

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้

1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)

2. ที่มีข้อความอันอาจ  ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น

ข้อถกเถียงทางสังคม
.    
ประเด็นการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้าม โพสต์เรื่องจริงสร้างความหวาดกลัว นั้น นำมาซึ่ง  ทำให้เกิดการโต้เถียงต่อไปอีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ตั้งคำถามเหล่านี้ได้ทันที เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และอาจสร้างความหวาดกลัวต่อสังคม โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าข้อความต่างๆ เป็นความจริงหรือไม่ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อไม่ทน! กฏหมายปิดปากพูดความจริงไม่ได้
.    
สำหรับ การออกข้อกำหนดในครั้งนี้ ทำให้ ร้อนถึงองค์กรสื่อสารมวลชนต่างๆ เพราะข้อกำหนดนี้ ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อ ไม่เป็นไปอย่างอิสระ เพราะอาจจะผิดกฏหมายได้  ทั้งที่เป็นเพียงการรายงานความจริงที่เกิดขึ้น โดย  มีรายงานว่า วันพุธ ที่ 14 กรกฎาคม 2564 นี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย
    สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
    สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
    สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
    สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
    สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
    สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
    องค์กรทั้งหมด จะหารือปัญหาตาม พรก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามโพสต์ความจริงในเชิงสร้างความหวาดกลัว เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ควรตาย
การหารือ นี้ จะใช้ระบบ Zoom เพื่อแลกเปลี่ยน และกำหนดท่าทีของกลุ่มสมาคมนักข่าวฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะการนำเสนอ เป็นการรายงานข้อเท็จจริง ไม่ใช่การใส่ร้าย จึงเห็นว่ากระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และหลักแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพ
ilaw

visanu
วิษณุยัน ยังพูดความจริงได้

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฏหมายมือหนึ่ง ของรัฐบาลชุดพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา  เปิดเผยถึงกรณีข้อกำหนดฉบับที่ 27 ระบุเรื่องการเผยแพร่ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  แต่หากนำเสนอข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความหวาดกลัวจะถือว่ามีความผิดหรือไม่ ว่า หากเสนอข่าวข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีความผิด

 โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ข้อความที่เป็นประเด็นข่าวนั้น คัดลอกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ขัดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งในหลักกฏหมายของประเทศ รัฐธรรมนูญย่อมเป็นกฏหมายสูงสุด นั่นหมายความว่า อะไรก็ตามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมขัดหลักกฏหมายประเทศนั้นเอง

สำหรับข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเป็นการตีความข้อกฎหมายต่างกัน แม้ฝ่ายรัฐจะมองว่า เป็นการสกัดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และการปั่นกระแสสร้างความหวาดกลัวในสังคม จนส่งผลกระทบให้การบริหารนโยบายเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19และการบริหารวัคซีนมีอุปสรรค แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกับการออก ข้อกำหนด ดังกล่าวเป็นความพยายามในการปิดปากประชาชนและสื่อ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ส่อจะผิดพลาดหลายครั้ง และอาจเป็นกรณีที่ทำให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกมองว่า คุกคามสื่ออีกครั้งหนึ่ง
 

related