svasdssvasds

สามารถ ชี้ ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน ! เหตุเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า ?

สามารถ ชี้ ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน ! เหตุเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มช้า ?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เล่าเส้นทางความเป็นมาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ต้องล่าช้า ส่งผลให้ ประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน พร้อมมกับตั้งคำถามว่า ใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ว่าฯ กทม. โพสต์บทความเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดดำเนินการได้ล่าช้า และใครต้องรับผิดชอบ ? โดยมีรายละเอียดดังนี้

จากการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปลี่ยนทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ จนในที่สุดได้ล้มการประมูล และนำไปสู่การฟ้องคดี ทำให้ไม่สามารถเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ตามกำหนดการเดิม เป็นเหตุให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินกรณีเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึงปีละ 4.3 หมื่นล้านบาท ถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบ ?

รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร วงเงิน 96,012 ล้านบาท และจัดหารถไฟฟ้ารวมทั้งให้บริหารจัดการเดินรถตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 32,116 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 128,128 ล้านบาท โดยให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 กันยายน 2563

แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม.ได้ประกาศเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะชนะการประมูล เป็น “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

ทั้งนี้ จากการที่ รฟม.ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ต้องเลื่อนวันยื่นข้อเสนอออกไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

บีทีเอสฟ้องศาลปกครองขอความเป็นธรรม

การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศดังกล่าว ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง

แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ

สามารถ ราชพลสิทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

รถไฟฟ้าสายสีส้มจะล่าช้ากว่าแผนกี่ปี ?

ถึงเวลานี้พบว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 1 ปี เนื่องจากการประมูลครั้งใหม่ยังไม่คืบ ทั้งนี้ การประมูลครั้งใหม่นั้น รฟม.ตัดสินใจใช้เกณฑ์ใหม่ ซึ่งพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

ไม่ใช้เกณฑ์เดิมซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะชนะการประมูล

จากการตรวจสอบการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. รวมทั้งของหน่วยงานอื่น เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เลือกใช้เกณฑ์เดิมกันทั้งนั้น

กล่าวคือกรณีหาผู้ร่วมลงทุนจะตัดสินด้วยคะแนนด้านผลตอบแทน ส่วนกรณีหาผู้รับเหมาจะตัดสินด้วยคะแนนด้านราคา ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคก่อน เช่น

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคของ รฟม. ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองของ รฟม. ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ไม่เคยมีการก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน

2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง

3. โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ของกรมทางหลวง

4. โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษฯ

5. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของสำนักงาน EEC

ดังนั้น การที่ รฟม.เลือกใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูลครั้งใหม่ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน ซึ่งจะทำให้การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าออกไปอีก ประเมินว่าการเปิดให้บริการจะล่าช้ากว่าแผนอย่างน้อย 1 ปี

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม รฟม.ต้องการจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนมีนาคม 2567 และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนกันยายน 2569

รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 82,907 ล้านบาท ซึ่งถึงวันนี้ (8 สิงหาคม 2564) มีความคืบหน้าประมาณ 85% ใกล้จะแล้วเสร็จ แต่ที่สำคัญ แม้จะสร้างเสร็จแล้วก็ไม่สามารถเปิดให้บริการตามแผนได้ คาดว่าจะล่าช้ากว่าแผนอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจาก รฟม.ยังไม่สามารถหาผู้ประกอบการเดินรถได้ เพราะการหาผู้ประกอบการเดินรถถูกผูกรวมอยู่กับการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งจะต้องมาทำการก่อสร้างส่วนตะวันตก และเดินรถตลอดเส้นทาง

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า จะทำให้ประเทศเสียหายเท่าไหร่?

รฟม. ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี  ประกอบด้วย

1. ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี

รฟม.จะต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นเงิน 103 ล้านบาท/ปี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี เป็นเงิน 392 ล้านบาท/ปี รวมเป็นเงิน 495 ล้านบาท/ปี

2. ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี

รฟม. ประเมินว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออกในปีแรกที่เปิดให้บริการได้ 1,764 ล้านบาท/ปี ซึ่งถ้าเปิดช้าจะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าโดยสารจำนวนนี้

3. ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้า จะทำให้ไม่สามารถบรรเทารถติดในพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียเวลาในการเดินทาง รฟม.จึงได้ประเมินเวลาที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงิน อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนบุคคล เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงรักษา เหล่านี้ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินพบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้า จะมีมูลค่าสูงถึง 40,644 ล้านบาท/ปี

ใครต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ?

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดว่า หาก รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ก็จะไม่มีการเลื่อนการยื่นข้อเสนอ และในที่สุดจะไม่มีการล้มการประมูล การฟ้องร้องก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ความล่าช้าในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.จะโทษคนอื่นไม่ได้ นอกจากตัวเอง! แล้วใครจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นครับ?

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

ที่มา ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

related