svasdssvasds

สธ.แจงหลักเกณฑ์จัดส่งวัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" ไม่มีสูญหาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

สธ.แจงหลักเกณฑ์จัดส่งวัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" ไม่มีสูญหาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

สธ.แจงหลักเกณฑ์จัดส่งวัคซีนโควิด "ไฟเซอร์" ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นไปตามรอบตามแผนที่วางไว้ ย้ำไม่มีสูญหาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

วันนี้ (10 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์และการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยังโรงพยาบาลเพื่อฉีดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนด จากเดิมส่งวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ก็สามารถส่งล็อตแรกตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม โดยหลายพื้นที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม

ซึ่งในการประชุมร่วมกับโรงพยาบาลในทุกสังกัด มีการวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะส่งวัคซีนเป็นรอบ ไม่ใช่ส่งไปในครั้งเดียว เพราะถ้าส่งไปครั้งเดียวก็จะเป็นจำนวนปริมาณสูง อาจมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บและการฉีดวัคซีนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กรมวิทย์ฯเผย “โควิดสายพันธ์เดลต้า” ระบาด91% กระจาย 76 จังหวัดทั่วไทย

ทูตสหรัฐฯ ประกาศ มอบเงิน 5 ล้านเหรียญ ให้ประเทศไทย ต่อสู้ วิกฤตโควิด-19

มาดามเดียร์-ศิริพงษ์ ลุยตรวจโควิด เขตหนองจอก ซัด รัฐมีงบแต่ไม่จัดสรรให้ สธ.

นพ.เฉวตสรร นามวาท กล่าวต่อว่า การจัดส่งวัคซีนยังพิจารณาจากฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมกับข้อมูลการสำรวจความต้องการวัคซีนไฟเซอร์ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าของแต่ละจังหวัด หากแจ้งมาต่ำกว่า 50% ของฐานข้อมูล จะจัดสรรให้เต็ม 50% เนื่องจากอาจมีผู้ต้องการรับวัคซีนเพิ่มเติม หากจำนวนสำรวจแจ้งมา 50-75% ของฐานข้อมูลจะส่งให้ตรงตามที่ขอ หากเกิน 75% ของฐานข้อมูลจะส่งให้เบื้องต้น 75% และจะมีการส่งวัคซีนเพิ่มเติม หากตกหล่นหรือต้องการเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลแต่ละจังหวัดติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, ส่วนโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ให้แจ้งสำนักอนามัย และคลินิกเอกชนใน กทม. ติดต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อรวบรวมเข้ามายังกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้การจัดส่งเติมเต็มในรอบถัดไป ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตามเกณฑ์ทุกราย ไม่มีการสูญหายไปไหน โปร่งใสตรวจสอบได้ ส่วนกรณีข่าวโรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ระบุว่าจัดส่งรอบแรกไปไม่เพียงพอตามจำนวน ก็มีการจัดส่งไปได้ครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ การเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะผสมน้ำเกลือตามที่บริษัทวัคซีนกำหนดเหมือนกันทุกประเทศ ไม่ได้ผสมน้ำแน่นอน และเนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์เก็บในอุณหภูมิแช่แข็ง -70 องศาเซลเซียสจะมีอายุใช้งานได้นาน เมื่อส่งถึงพื้นที่สามารถเก็บในตู้เย็นปกติได้ประมาณ 1 เดือน เมื่อออกมาอยู่ในอุณหภูมิห้องเพื่อผสมและเตรียมฉีด ต้องใช้งานภายใน 6 ชั่วโมง วัคซีน 1 ขวดฉีดได้ 6 คน หากฉีดไม่หมดในเวลา 6 ชั่วโมง เช่น มีคนมาฉีดไม่ถึง 6 คน จะเอาวัคซีนกลับไปแช่อีกไม่ได้ ต้องทิ้งวัคซีนที่เหลือทำให้เกิดความสูญเสีย จึงต้องบริหารจำนวนคนมาฉีดให้เหมาะสม

สำหรับจำนวนการวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 9 สิงหาคม 2564 รวม 21,171,110 โดส  เป็นเข็มแรก 16,336,743 คน เข็มสอง 4,566,345 คน และเข็มสาม 268,022 คน วันที่ 9 สิงหาคมฉีดได้มากกว่า 5 แสนโดส ส่วนบางวันมีการฉีดมากฉีดน้อย มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายส่วน หากฉีดเข็มหนึ่งเต็มกำลัง เมื่อคนฉีดเข็มหนึ่งถึงรอบมาฉีดเข็มสอง อาจจะไม่มีวัคซีนก็จะเกิดผลเสีย จึงต้องบริหารให้มีวัคซีนฉีดเข็มสองไม่ขาดตอน ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนแบ่งเป็นซิโนแวค 10,269,135 โดส, แอสตร้าเซนเนก้า 9,230,417 โดส, ซิโนฟาร์ม 1,541,724 โดส และไฟเซอร์ 129,834 โดส

related