svasdssvasds

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

เรียนออนไลน์แล้วมีปัญหา เรียนออนไลน์แล้วไม่เข้าใจ จนมีการเสนอให้หยุดเรียนออนไลน์นาน 1 ปี ถูกหยิบยกมาพูดถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ทางด้านครูที่เป็นผู้สอนจริงๆ ใกล้ชิดอยู่กับเด็ก และนักกุมารแพทย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเรียนออนไลน์ ?

จากครั้งที่แล้ว เรื่อง "เรียนออนไลน์ รู้แต่ทฤษฎี ทำจริงไม่เป็น" ที่ได้สัมภาษณ์เหล่านักเรียน นักศึกษา ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างไรต่อ 'การเรียนออนไลน์' โดยส่วนมาก 'ไม่ชอบ' แม้จะเข้าใจว่า การเรียนออนไลน์เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 แต่พวกเขาก็ยังหวังที่จะรีบกลับไปเรียนในห้องเรียนให้เร็วที่สุด เพราะการเรียนออนไลน์อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับพวกเขา

ในครั้งนี้ SPRiNG จะพาไปสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใหญ่กันบ้าง ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับการเรียนออนไลน์

-----------------------------

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

น.ส.ธนพัต​ รั​ตน​ศิริ​วิไล (คุณแพท) อาจารย์ผู้สอนและผู้ก่อตั้งสถาบันสอนภาษา The Ivy School ที่สอนเด็กเล็กตั้งแต่ 5 ขวบ ไปจนถึงเด็กโต 17 ปี ซึ่งโดยส่วนมากนักเรียนที่มาเรียนด้วยจะเป็นเด็กอายุราว 8-15 ปี ได้แสดงความคิดเห็นว่า ข้อดีของการเรียนออนไลน์นั่นคือ เด็กสามารถเรียนจากที่ใดก็ได้ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ขจัดปัญหาเรื่องพรมแดนออกไป

แต่ว่าเด็กส่วนมากนั้นไม่ชอบการเรียนออนไลน์ เพราะเด็กๆ ไม่มีส่วนร่วมในห้องอย่างที่เคยเป็น รวมไปถึงการที่เด็กขาดสมาธิในการเรียน เพราะอาจมีกิจกรรมอื่นเข้ามาแทรกได้ง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

โดยปกติแล้ว การเรียนการสอนใน The Ivy School จะเป็นรูปแบบการนำสื่อการเรียนการสอนอย่าง 'บอร์ดเกมส์' เข้ามาช่วยสอน แม้จะจัดกิจกรรมแบบเดิม แต่การทำกิจกรรมผ่านหน้าจอให้ความสนุก ให้ความเป็นอารมณ์ร่วมได้ไม่เหมือนการเรียนในห้อง

สิ่งที่เป็นกังวลคือ การที่เด็กๆ อยู่หน้าจอทั้งวัน อาจทำให้เด็กสมาธิสั้น เพราะสิ่งต่างๆ มาเร็ว เพียงนิ้วคลิก ทำให้ไม่มีสมาธิที่จะจดจ่ออยู่กับอะไรนานๆ รวมไปถึงการที่เด็กเป็นคนใจร้อน ทำให้กังวลอย่างมากว่าอาจเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้แก่เหล่าเด็กๆ

มีเสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง เล่าให้ฟังว่า 'การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผลเลย' ได้การเรียนรู้ไม่เท่าในห้อง ตรงนี้จะเป็นการบ้านของครูที่สอน เพราะ ครูต้องทุ่มเทมากยิ่งขึ้น ทั้งการดึงความสนใจจากเด็ก และการใส่ใจเด็กผ่านหน้าจอก็ทำได้ยากกว่าในห้องเรียนเยอะมาก

สุดท้ายแล้วคิดว่า การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กต้องเน้นการทำกิจกรรมซึ่งอาศัยบรรยากาศในห้องเรียนสร้างความมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน การเรียนออนไลน์ หรือ E-Learning อย่างน้อยเด็กที่จะเรียนแบบนี้ได้ ควรเป็นเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไป หรือมัธยมศึกษาตอนปลายเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเหล่านั้น มีสมาธิที่มากกว่า และมีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า

-----------------------------

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

ทางด้าน รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม เผยว่า มีการวิจัยของเมืองนอก ศึกษาว่า การที่เด็กๆ ไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน ทำให้เด็กขาดโอกาสในการเข้าสังคม ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

การที่เรียนออนไลน์ ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนผ่านหน้าจอได้ยากนั้นอาจมาจาก 3 ปัจจัย

1. ปัจจัยจากตัวเด็กเอง สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเด็ก ว่าเด็กสามารถมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนผ่านหน้าจอได้มากแค่ไหน

2. ปัจจัยจากครู/อาจารย์ ว่า ครูสามารถใส่ใจในการสอนได้ดีแค่ไหน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดระดับครูได้ในระดับหนึ่ง ว่าครูนั้นดึงดูดนักเรียนได้หรือไม่ ครูต้องดึงดูดให้มากขึ้น ใส่ใจให้มากยิ่งขึ้น

3. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม บรรยากาศในการเรียนเหมาะแก่การเรียนหรือเปล่า คนอยู่ในบ้านเยอะจนทำให้เด็กเสียสมาธิไหม ซึ่งตรงนี้รวมไปถึงอุปกรณ์ด้วย ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เรียนอย่าง คอมพิวเตอร์ มือถือ iPad หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตที่พร้อมไหม ไม่ใช่ว่าเรียนๆ ไปแล้วอินเทอร์เน็ตหลุด แบบนี้ก็คงยากที่จะเรียนได้รู้เรื่อง และอุปกรณ์การเรียนการสอนอื่นๆ

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

ในเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เป็นแบบนี้ สิ่งที่สามารถทำได้ ก็คือต้องปรับตัวกันไป การเรียนรู้คือการปรับตัว เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ แล้วโควิด19 จะหมดไปหรือไม่ เราอาจต้องเรียนแบบนี้กันต่อไป หรือ อาจจะกลับไปเรียนกันในห้องเรียนกันดังเก่า หรือ อาจจะเป็นรูปแบบผสมผสานก็เป็นได้

วิชาไหนที่เป็นการเรียนการสอนอย่างเดียว ไม่ต้องเข้าห้องเรียนก็สามารถที่จะเรียนออนไลน์ได้ นักเรียนไม่ต้องไปโรงเรียนทุกวัน แต่วิชาไหนที่จำเป็นจะต้องใช้สื่อการเรียนการสอน อย่างวิทยาศาสตร์หรืออย่างอื่นก็กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามปกติ เพราะทุกสิ่งไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ทั้งหมด

อย่างกรณีที่นักวิชาการ อาทิ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ , น.ท.สุมิตร สุวรรณ ฯลฯ เสนอให้หยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี เพราะการเรียนออนไลน์ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา หรือ ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนในระยะยาว รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ได้ตอบไว้ว่า โจทย์นี้เป็นนโยบายระดับชาติ ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของคนในชาติ ประกอบกับผลวิจัย สามารถหยุดเรียนได้ แต่ต้องตอบให้ได้ว่า ถ้าหยุดเรียนไปแล้ว เด็กจะทำอะไร

ตนไม่ได้ติดในกรณีที่เด็กจะหยุดเรียน แต่ถ้าเด็กอยู่บ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วเด็กไปวนเวียนอยู่แต่ในโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ปกครองเป็นกังวล สิ่งไม่ดีต่างๆ สิ่งยั่วยุต่างๆ อาจเข้าถึงตัวเด็กได้มากขึ้น

สำหรับเด็กอนุบาล การเรียนการสอนของเด็กอนุบาลหรือปฐมวัย ไม่ใช่เนื้อหาหรือวิชาการอยู่แล้ว แต่เป็นการสอนผ่านกิจกรรม เช่น การทำศิลปะ การทำอาหาร หรือออกกำลังกาย เป็นการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว ซึ่งเด็กควรออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงขึ้นไป ยิ่งมาก ยิ่งดี เพียงแต่อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการในการเข้าสังคม

เรียนออนไลน์ จุดสำคัญคือ พ่อแม่ เติมเต็มในสิ่งที่ลูกขาดหายไปได้อย่างไร

ทางที่ดีต้องถามกลับไปว่า 'พ่อแม่ จะเติมเต็มให้ลูกได้อย่างไร' จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ พ่อแม่ต้องเข้ามาสนใจลูกให้มากขึ้น เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไป กิจกรรมมีให้ทำตั้งเยอะ แม้ไปออกกำลังกายนอกบ้านไม่ได้ เพราะสถานที่ออกกำลังกายถูกสั่งปิด เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 แต่กิจกรรมการออกกำลังกายในบ้านมีตั้งเยอะ เพราะการออกกำลังกายช่วยลดความเครียดได้ หรือจะทำความรู้จักกับเพื่อนบ้าน ดูว่าเพื่อนบ้านออกไปข้างนอกบ่อยหรือไม่ ดูแล้วปลอดภัยจากโควิด19 หรือเปล่า เช็คให้แน่ใจ แล้วไปทำกิจกรรมร่วมกันก็ยังสามารถที่จะพอเป็นไปได้

สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับว่า พ่อและแม่จะจัดสรรเวลาอย่างไรให้กับลูก ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ที่มีทักษะมากกว่า จะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาของลูกได้มากกว่า ซึ่งต้องใช้ข้อดีของอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ สามารถหาเรียนรู้จากโลกกว้างได้มากมาย ใช่ปล่อยให้ลูกอยู่กับอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง

สุดท้ายของฝากถึงพ่อแม่ว่า เวลาที่มีวิกฤติ เราต้องมองหาทางออก หากไม่ทำเช่นนั้นปัญหาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่อย่างนั้น ต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อพัฒนาลูกของเราเอง ใช่ปล่อยแต่เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ บ้านไหนที่ทำได้ดีย่อมได้เปรียบกว่าบ้านอื่น จุดสำคัญคือพ่อแม่เอง

related