svasdssvasds

สธ. ผนึก ศธ. เตรียมขยาย Sandbox Safety Zone in School แบบไปกลับ

สธ. ผนึก ศธ. เตรียมขยาย Sandbox Safety Zone in School แบบไปกลับ

กระทรวงสาธารณสุข เผยมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำได้ผลดี เตรียมร่วมกระทรวงศึกษาธิการขยายสู่โรงเรียนแบบไปกลับ เผยมาตรการและการดำเนินการของโรงเรียนที่ต้องเข้มขึ้น ตามระดับพื้นที่ระบาด

 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 11 กันยายน 2564 มีเด็กวัยเรียนวัยรุ่นอายุ 6-18 ปีติดเชื้อโควิด-19 สะสม 129,165 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีการเปิดเรียน ส่วนหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน สำหรับการฉีดวัคซีนในครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ได้รับวัคซีนแล้วร้อยละ 88.3 ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลถึงวันที่ 11 กันยายน 2564 รับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 จำนวน 74,932 คน และเข็ม 2 จำนวน 3,241 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รมว.ศธ.เผยเริ่มฉีดวัคซีนเด็ก 12-18 ปี ช่วงเดือน ต.ค.นี้ ต้อนรับเปิดเทอม

• เฮ! เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ส่งถึง ศธ.แล้ว เร่งจัดสรรสู่สถานศึกษา

• นายกฯ กำชับ ศธ.ติดตามเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ต้องถึงมือผู้ปกครอง

 อธิบดีกรมอนามัย เผยอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย นำร่องเปิดการเรียนการสอนแบบ On site ตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำ ซึ่งมีการแบ่งโซนคัดกรอง โซนกักกันผู้สัมผัสเสี่ยง และโซนปลอดภัยสีเขียว ร่วมกับมาตรการต่าง ๆ พบว่าได้ผลดี แม้พบผู้ติดเชื้อ ก็เป็นการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อภายนอกและตรวจจับได้ จึงเตรียมขยายในโรงเรียนแบบไปกลับ โดยมาตรการจะเข้มข้นขึ้น ตามระดับของพื้นที่ระบาด ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) โดยครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่าร้อยละ 85 ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ เน้น 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสถานศึกษา คือ

1) สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และประเมินผลผ่าน MOECOVID

2) การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มย่อยและไม่ข้ามกลุ่ม  

3) จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ

4) จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการระบายอากาศ  

5) จัดเตรียม School isolation และ แผนเผชิญเหตุรองรับ ผู้ติดเชื้อโดยมีการซักซ้อม

6) ควบคุมดูแลการเดินไปกลับให้มีความปลอดภัย (Seal Route)

7) จัดทำ School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ซึ่งจะมีข้อมูลผลประเมินความเสี่ยง ผลตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติติดเชื้อช่วง 1-3 เดือน

 “หากโรงเรียนอยู่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จะเพิ่มการตรวจด้วย ATK 1 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์ , พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ , พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) กำหนดให้สถานประกอบกิจการรอบสถานศึกษา 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting จัดทำ School Pass และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน เพิ่มการตรวจ ATK เป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มการตรวจ ATK เป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงทุกวัน สำหรับการตรวจ ATK ให้พิจารณาประยุกต์แนวทางตามความจำเป็น ความเหมาะสม และความพร้อมในบริบทของโรงเรียนและของสถานการณ์แต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะทำให้การเปิดเรียนมีความปลอดภัยต่อนักเรียนและครอบครัว”

 อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการสนับสนุน ATK มี 2 ส่วน คือ

1. สปสช.จัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ สามารถประเมินความเสี่ยงและรับชุดตรวจได้ตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด

2. การจัดหาในพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียน หรือกองทุนสุขภาพตำบล สามารถมาสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ ATK จะมีจำนวนมากขึ้นและราคาถูกลง

related