svasdssvasds

‘ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม’ ผู้ขับเคลื่อน ปตท.เรียนรู้การรับมือโควิด-19

‘ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม’ ผู้ขับเคลื่อน ปตท.เรียนรู้การรับมือโควิด-19

ปตท. ในฐานะองค์กรที่ดำเนินกิจการด้านพลังงานที่มีความสำคัญของประเทศ ผ่านบทเรียนสำคัญ จากการเผชิญการรับมือภัยการระบาดของ ไวรัสโควิด 19 ซึ่งต้องเรียนรู้ และรับมือ ปรับตัวเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไทยจะต้องมีพลังงานเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศให้ได้ ท่ามกลางวิกฤติ

กลุ่ม ปตท. เป็นหนึ่งองค์กรที่ได้รวบรวมความช่วยเหลือเพื่อส่งมอบแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่แรกเริ่ม จนปัจจุบันได้เติบโตเป็นโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ขยายความช่วยเหลือไปในวงกว้าง ครอบคลุมความต้องการทั้งด้านการแพทย์ รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้แก่ประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 อย่างปลอดภัยที่สุด 

แต่เบื้องหลังบทบาทเหล่านั้น ปตท. ยังคงยึดมั่นในพันธกิจสำคัญ นั่นคือ การรับผิดชอบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ ปตท.จำกัด (มหาชน) “ในฐานะองค์กรพลังงานของประเทศ ในภาคการผลิตพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบก๊าซธรรมชาติ หรือว่าโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่ม ปตท. ควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อในกลุ่มพนักงาน จะได้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่มั่นใจได้ว่าประเทศไทยเรายังมีพลังงานที่เพียงพอต่อการใช้ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ยาวนานกว่า 2 ปี”

นั่นคือคำบอกเล่าจากคุณดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หนึ่งบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร 

“สิ่งที่เราทำ คือ จะต้องมีการแยกพนักงานในภาคการผลิตเหล่านี้ออกจากครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะไปสัมผัสผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้แพร่เชื้อภายนอก ซึ่งเราได้ทำอย่างนี้มาตั้งแต่ปีก่อน โดยต้องขอชื่นชมในความเสียสละและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพวกเขา”

ไม่ใช่เฉพาะพนักงานในฟากฝั่งการผลิตเท่านั้น ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางมาตรการป้องกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่วนงานไหนๆ คุณดวงพรก็ได้ย้ำกับเราว่า พนักงานทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อองค์กรไม่ต่างกัน 

“สำหรับพนักงานในกลุ่ม ปตท. บริษัทห่วงในสุขภาพ และความเสี่ยงในการรับเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงจัดได้ตั้งศูนย์พลังใจ ซึ่งจะเป็น Center ในการติดตามการแพร่ระบาดของโรค และได้วางมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดในที่ทำงาน รวมทั้งยังมีการติดตามสถานะของพนักงานที่มีโอกาสติดเชื้อ อย่างเป็นระบบ ทำให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลและดูแลได้อย่างต่อเนื่อง และในกรณีที่มีพนักงานติดเชื้อ และต้องเข้ารับการรักษา ปตท. จะแบ่งเบาความเดือดร้อนในการช่วยหาโรงพยาบาลให้”

ฟังแนวคิดที่กลุ่ม ปตท. ใช้ในการดูแลสุขภาพพนักงาน ทำให้นึกไปถึงโปรเจกต์ที่กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการล่าสุดอย่าง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่ความเข้าใจถึงปัญหา และความพยายามเข้าไปช่วยเหลืออย่างตรงจุด แบบครบวงจรที่สุด ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิต และหยุดยั้งการแพร่ระบาดในวงกว้างได้

ปตท. สู้ภัยโควิด-19

“สำหรับโครงการหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจรที่เราตั้งขึ้นมา ก็เกิดจากแนวคิดที่เราเห็นว่า เมื่อติดเชื้อแล้ว หากเราสามารถส่งเข้าสู่การรักษาได้ทัน โอกาสที่จะสูญเสียก็จะน้อยลง ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ควรจะได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว และเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็ควรจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ก็คือ ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” 

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่อยู่ในภาวะโควิด-19 คุณดวงพร มองว่าเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเราได้ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญด้านสุขอนามัยและสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเพื่องานด้านสาธารณสุข ซึ่งกลุ่ม ปตท. ก็ได้เริ่มคิดค้นและนำมาใช้งานจริงในหลายๆ โครงการที่ผ่านมา  

นวัตกรรม สู้ภัยโควิด-19 “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด การมีเทคโนโลยีนวัตกรรมทางสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกี่ยวกับชีวิตผู้คน และในประเทศไทยควรมีการพัฒนาเทคโนโลยี และเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยด้านสาธารณสุขมากขึ้น เราจะได้ไม่ไปพึ่งพาต่างประเทศ” 

เป็นความคาดหวังที่จะได้เห็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยยกระดับงานสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศ

“จริงๆ ในประเทศเราเองก็มีคนที่พัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าเวลาเราขาดแคลนอะไร ก็จะมีคนประดิษฐ์​ขึ้นมา แสดงว่าคนในประเทศเรา มีองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมแล้ว ถ้าได้รับการสนับสนุน ก็น่าจะพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้ดีขึ้น”

นวัตกรรม สู้ภัยโควิด-19 ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องดูแลกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ได้เห็นทั้งในมุมของผู้ป่วย และการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทเวลาและความสามารถอย่างเต็มที่ ทำให้คุณดวงพร ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่ต้องการไปเพิ่มงานให้แก่โรงพยาบาลมากขึ้น

“ในสถานการณ์ที่ระบาดอย่างมาก โดยส่วนตัวคิดว่าเราต้องสมมติฐาน ว่าทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะฉะนั้นจะต้องระวังตัวเอง แมสก์ก็ควรจะใส่เป็นประจำ จนเหมือนจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของเรา ไม่ว่าจะอยู่บ้าน หรือออกไปข้างนอก เรื่องการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ทำความสะอาด หมั่นล้างมือ และไม่พยายามสัมผัสผู้คน ไม่ไปในที่แออัด เชื่อว่าแค่นี้ก็ปกป้องตนเองได้อย่างดีแล้ว” 

แม้การเฝ้าติดตามข่าวสาร และระมัดระวังตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณดวงพรได้ย้ำ ว่าเราต้องให้น้ำหนักไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การหาเวลาเพื่อผ่อนคลาย จากความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบัน

“เดี๋ยวนี้ เรา Work from Home ก็จะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องผ่านระบบออนไลน์ นั่งอยู่กับที่ตลอด ทำให้เราไม่สามารถไปไหนได้อย่างอิสระอย่างเดิม จำเป็นต้องมีจุดพักระหว่างการทำงาน ออกมายืดเส้นยืดสายบ้าง หรือ ถ้าเราดูข่าวสารมากจนเกินไป จะทำให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้นพยายามดูให้พอประมาณ ดูเพื่อจะเก็บข้อมูล แต่อย่าดูมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความวิตกกังวล”

ถึงตอนนี้ เราจะยังไม่รู้ว่าทิศทางของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร แต่สำหรับคุณดวงพรแล้ว มองว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ตอกย้ำให้เราทุกคนต้องมีความพร้อมในการที่จะปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

“สถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นสถานการณ์วิกฤตของโลก ซึ่งจะเกิดเป็นวัฏจักร เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งที่เราควรปฏิบัติก็คือ เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น ต้องมีความคล่องตัวในแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเจอวิกฤตประเภทไหนก็ตาม” คุณดวงพรกล่าวปิดท้าย

 

related