svasdssvasds

สธ. งัดกลยุทธ์จูงใจคนฉีด"วัคซีนโควิด-19" แจก ข้าวสาร ลูกวัว ลอตเตอรี่ ทอง

สธ. งัดกลยุทธ์จูงใจคนฉีด"วัคซีนโควิด-19" แจก ข้าวสาร ลูกวัว ลอตเตอรี่ ทอง

กรมควบคุมโรคเผยปี 65 ไทยลุยบูสเตอร์โดสเต็มสูบ สกัดภูมิฯตก เร่งตรวจสอบ หลังพบข้อมูลคนฉีดแล้วตกหล่นไม่ได้คีย์เข้าระบบหลายแสนราย แต่ละพื้นที่ออกสารพัดมาตรการ จูงใจคนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผน วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 พันกว่าราย เสียชีวิตลดลงชัดเจน แต่ต้องไม่ประมาท เพราะตัวเลขของสหรัฐอเมริกา ยุโรปกำลังพุ่งกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีนเร็ว แล้วภูมิคุ้มกันตก รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง จึงต้องเน้นย้ำใน 2 จุดนี้ ส่วนประเทศไทยในเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะจบแล้ว คาดว่าหลังปีใหม่นี้จะเร่งบูสเตอร์โดส เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันตกมาก ซึ่งเป็นแผนของการดำเนินการในปี 2565 เมื่อใครถึงเวลาบูสเตอร์แล้วก็ขอให้บูสเลย 

 "ขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยเกือบจะ 90 ล้านโดสแล้วเพราะเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เท่าที่ตรวจสอบมีข้อมูลที่ยังไม่ได้คีย์เข้าระบบ MOPH IC เนื่องจากคนฉีดแล้วแต่เกิดปัญหาขัดข้องในการคีย์ คาดว่ามีประมาณหลายแสนข้อมูล ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาจถึงล้านข้อมูล โดยกำลังเร่งตรวจสอบอยู่ เบื้องต้นคาดว่าข้อมูลตกหล่นมาจากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม และการฉีดนอกสถานที่ เช่น โรงเรียน ยังไม่ได้คีย์ข้อมูลเข้าระบบ คีย์ไม่ทันหรือไม่ครบ เกิดจากหลายสาเหตุรวม ๆ กัน" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "หมอธีระ" วิเคระห์สาเหตุ มีคนจำนวนไม่น้อยยังลังเลเรื่อง "วัคซีนโควิด"

• แพทย์ผิวหนัง แจงชัด "ฉีดวัคซีนโควิด-19" แล้ว ทำให้เกิดผมร่วงได้จริงหรือไม่

• เปิด 10 จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อยสุด นครพนมคว้าแชมป์ท้ายสุด

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีตัวเลขการฉีดต่ำ ในที่ประชุม สป.สัญจร ที่ จ.พิษณุโลก ก็ไล่ถามนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เช่น นครพนม หนองคาย ก็ได้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบพบว่าส่วนหนึ่ง ไม่ได้อยู่บ้านตามที่ระบุในทะเบียนราษฎร์ ไปทำงานในกรุงเทพมหานคร หาตัวคนไม่เจอแล้ว ไม่ได้แปลว่าจังหวัดฉีดได้ไม่ดี จึงให้แนวทางไปว่า ต้องพยายามปูพรม ใครยังไม่ได้ฉีดก็ให้ฉีดทุกคน ส่วนคนที่อยู่กทม.ก็มีจุดเปิดวอล์กอิน (Walk in) ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อไว้ให้ ก็ขอเชิญชวนว่าให้ทุกคนไปฉีด ไม่ต้องสนใจว่าอยู่จังหวัดไหน เพราะฉีดให้ทุกคนทั้งคนไทย และต่างชาติ

 “ไม่ต้องโล๊ะข้อมูลในระบบที่ลงทะเบียน ณ จุดฉีด ให้เป็นตามทะเบียนราษฏร์ เพราะตอนนี้จะจบแล้ว ไม่อยากต้องให้ข้อมูลมั่วหมด เพราะ บางจังหวัดก็ขอให้โล๊ะ แต่ถ้าทำ ก็ทำให้ตัวเลขไปเพิ่มในจังหวัดอื่นๆ อีก ก็จะมั่วกันทั้งระบบ ซึ่งเราไม่ได้ซีเรียสในเรื่องนี้ เราต้องการภาพรวมประเทศมากกว่า จึงมอบให้ อสม.เร่งปูพรม เคาะประตูให้คนเข้ามารับวัคซีนให้มาก ก็พยายามทำกันอย่างเต็มที่ มอบพื้นที่แต่ละจังหวัดไปจัดการกัน บางที่ก็แจกข้าวสาร แจกลูกวัว แจกลอตเตอรี่ จับสลากแจกทองก็มี ก็ช่วยกันทุกวิธี ในแนวทางเชิงบวก ไม่อยากบังคับ แต่อยากให้ทุกคนปลอดภัย นพ.โอภาสกล่าว

 สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ส่งผลต่อการควบคุมโรคในภาพรวมอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า หากจำนวนไม่มาก ก็จะกระทบไม่มาก เพราะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว แต่กับตัวเขาเองก็จะไม่ดี หากเกิดติดเชื้อมาอาการก็จะรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงอายุครรภ์ แต่กลุ่มนี้ในภาพรวมฉีดไปมากกว่า 70% เว้นกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ยังน้อยยังน้อย เพราะบางคนขอคลอดลูกก่อน ซึ่งก็พยายามชักจูงใจ ทำความเข้าใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถฉีดได้

 “ปัญหาวัคซีนขาดไม่มี แต่อาจมีบางคนที่ยังเลือกยี่ห้อ ซึ่งก็ให้ทางจังหวัดบริหารการฉีดให้เกิดความยืดหยุ่น เพราะมีจำนวนวัคซีนต่างกัน บางจังหวัดมีไฟเซอร์มาก บางจังหวัดมีแอสตร้าฯ มากก็ให้ฉีด ทั้งนี้ หากจะสะดวกที่สุดก็ให้ฉีดตามสูตรที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แนะนำให้เหมาะสมกับจำนวนวัคซีนที่จังหวัดมีอยู่”นพ.โอภาสกล่าว

 นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา ล็อตการบริจาคจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนโมเดอร์น่าที่ได้รับบริจาคมาครั้งนี้ บรรจุ 1 ขวดฉีดได้ 15 โดสหรือ 15 คน รวมถึงการจัดส่งต้องอยู่ในอุณหภูมิ -20 องศาเซสเซียส คล้าย ๆ กับวัคซีนไฟเซอร์ที่ต้องใช้ -70 องศาฯ ดังนั้น เป็นเรื่องยากในการจัดสรร แต่เบื้องต้นแผนกระจายวัคซีนโมเดอร์น่า คือ 1.นำไปใช้แทนวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในภาคใต้   2.สำรองไว้ให้ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดก่อนเดินทางไปต่างประเทศที่ระบุว่าต้องใช้โมเดอร์น่า และ 3.ใช้แทนวัคซีนไฟเซอร์ในเข็ม 2 สำหรับผู้ที่ฉีดสูตร เข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์(AF) ก็จะเป็นแอสตร้าฯ ตามด้วยโมเดอร์นา(AM)

related