svasdssvasds

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกปี 2022 “โควิด-อาหาร-การเมือง” ยังเป็นปัจจัยท้าทาย

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกปี 2022 “โควิด-อาหาร-การเมือง” ยังเป็นปัจจัยท้าทาย

นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ( Bloomberg) คาดการณ์ 10 ความเสี่ยงท้าทายเศรษฐกิจโลกปี 2022 พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลัก รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ราคาอาหารที่สูงขึ้น สถานการณ์การเมือง และความไม่สงบในหลายประเทศ

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะก้าวเข้าสู่ปี 2022 กันแล้ว เชื่อว่าหลายๆคนคงรู้สึกไม่ได่ต่างกันว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาช่างเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยหลักส่งผลกระทบทั้งการใช้ชีวิต และปัญหาปากท้อง ขณะที่นักลงทุนเอง เรียกว่าเป็นปีที่ยากต่อการคาดการณ์ เพราะปัจจับเสี่ยงที่ท้าทายเศรษฐกิจมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะพลิกผันแบบไม่ทันตั้งตัว

นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ( Bloomberg) ได้คาดการณ์ในช่วงแรกมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งด้วยดัชนีราคาสินค้าที่ลดลง สถานการณ์โควิดที่ดูจะควบคุมได้จากวัคซีนและยาที่เร่งผลิตออกมา จนทำให้หลายประเทศเริ่มจะคลายล็อกและเริ่มเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินที่ใช้เพื่อการรับมือ มากระตุ้นและเดินหน้าเศรษฐกิจแท้ แต่ดูเหมือนเดือนสุดท้ายของปี 2021 จะพลิกตำราคาดการณ์เศรษฐกิจออกไป มาดูที่ปี 2022 กันบ้างว่ามีความเสี่ยงอะไรที่ท้าทายเศรษฐกิจโลกบ้าง

1.โควิดสายพันธุ์ใหม่ หรือ โอไมครอน,โอมิครอน (Omicron) และการล็อกดาวน์ที่มากขึ้น

ถึงแม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรุนแรงหรือวิธีการป้องกันโควิดโอไมครอน แต่ที่เห็นค่อนข้างชัดเจนคือการระบาดที่รวดเร็วกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้ ซึ่งการจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนการระบาดของโรค ต้องระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากรและเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการป้องกันโควิด ทำให้ผู้คนไม่ไปยิมหรือร้านอาหาร แต่กระตุ้นให้พวกเขาซื้อของมากขึ้นแทน ส่งผลให้การคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกของบลูมเบิร์ก เพิ่มขึ้นจาก 4.7% ถึง 5.1%

Omicron : Photo by pixabay

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2.ภัยคุกคามจากเงินเฟ้อ

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก เมื่อต้นปี 2564 สหรัฐฯ คาดว่าจะผ่านปีนี้ไปด้วยอัตราเงินเฟ้อ 2% แต่ในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งเกือบแตะ 7% ในปี 2565 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อสิ้นปีจะใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายเดิมอีกครั้ง แต่ก็อาจผิดพลาดได้อีก

การระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน,โอมิครอน (Omicron) อาจกระทบการเดินทางและจะกดราคาน้ำมันลง ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯและก็อาจสูงขึ้นอีก ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น ราคาอาหารอาจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรทั้งสิ้น

3.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ลองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ความโกลาหลของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2556 จนถึงการเทขายหุ้นในปี 2561 แสดงให้เห็นว่าการที่เฟดปรับนโยบายด้านดอกเบี้ยมีอิทธิพลอย่างมากกับตลาดทั่วโลก แต่สิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในรอบนี้ คือราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นอีกรอบแล้ว ขณะที่ดัชนี S&P 500 ก็อยู่ใกล้กับภาวะฟองสบู่ และราคาบ้านที่ทะยานตัวขึ้นจากค่าเช่า ชี้ว่าความเสี่ยงด้านตลาดที่อยู่อาศัยมีมากกว่าทุกครั้งนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในปี 2550

บลูมเบิร์ก ( Bloomberg) จำลองภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า และส่งสัญญาณว่าจะดำเนินต่อไปจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 2.5% ผลักดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น และการกระจายสินเชื่อที่กว้างขึ้น ผลลัพธ์คือ จะส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2566

ตลาดที่อยู่อาศัย Photo by pixabay

4.ผลกระทบนโยบายดอกเบี้ยของเฟด และตลาดเกิดใหม่

อีกความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก คือเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ที่ผ่านมาเฟดดำเนินนโยบายแบบไม่ปกติ ทั้ง QE และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือศูนย์ แบบเดียวกับหลังวิกฤติซับไพรม์ อาจหมายถึงการล่มสลายของตลาดเกิดใหม่ อัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้นของสหรัฐ มักจะช่วยเพิ่มค่าเงินดอลลาร์และกระตุ้นการไหลออกของเงินทุน  และบางครั้งก็ก่อให้วิกฤตของสกุลเงิน ในประเทศกำลังพัฒนา

บางประเทศมีความเสี่ยงกว่าประเทศอื่น ในปี 2556 และ 2561 อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกีได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด รวมทั้งบราซิลและอียิปต์  พวกเขารวมกันเรียกว่า BEASTs  เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง 5 แห่งในปี 2565 (อิงตามมาตรการต่างๆที่รวบรวมโดย Bloomberg Economics)

อันดับความเสี่ยง ความต้องการเงินทุนที่สูง และการกำกับดูแลที่อ่อนแอ จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดเกิดใหม่บางแห่ง

ในขณะที่ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และไต้หวัน ซึ่งมีหนี้เพียงเล็กน้อยและยอดคงเหลือในบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่ง จะมีความเสี่ยงน้อยที่สุดของเงินทุนในโลกเกิดใหม่

5.จีน

ในไตรมาสที่3 ของปี 2564 เศรษฐกิจของจีนต้องหยุดชะงัก ปัญหาการชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande การล็อกดาวน์ของโรคระบาดโควิด-19 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการขาดแคลนพลังงาน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีลดลงเหลือ 0.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 6% ที่โลกคุ้นเคย

ในขณะที่วิกฤตการณ์พลังงานน่าจะคลี่คลายในปี 2565 ปัญหาอีก 2 ประการอาจไม่เป็นเช่นนั้น กลยุทธ์ซีโร่โควิด (Zero-Covid) ของรัฐบาลจีนอาจหมายถึงการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อสกัดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน และด้วยอุปสงค์ที่อ่อนแอและข้อจำกัดด้านการเงิน การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนประมาณ 25% อาจต้องชะลอตัวลงอีก

เบื้องต้น Bloomberg Economics คาดการณ์ว่าจีนจะเติบโต 5.7% ในปี 2565 แต่หากชะลอตัวลงเหลือ 3% จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ขาดผู้ซื้อ และอาจจะทำให้แผนของเฟดต้องล้มเหลว เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่หุ้นจีนตกในปี 2558

China : Photo by pixabay

6.ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป

ในปีนี้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ผู้นำที่สนับสนุนโครงการยุโรป และการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางยุโรปเพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล ช่วยให้ยุโรปฝ่าฟันวิกฤตโควิดได้ แต่ในปีหน้าปัจจัยทั้งคู่อาจเปลี่ยนไป…

การชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีของอิตาลีในเดือนมกราคม อาจทำให้กลุ่มพันธมิตรที่เปราะบางในกรุงโรมพลิกคว่ำ ส่วนที่ฝรั่งเศสกำลังเตรียมการเลือกตั้งในเดือนเมษายน โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งหากกลุ่มต่อต้านการรวมยุโรปได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของประเทศสำคัญ อาจทำให้ความสงบในตลาดตราสารหนี้ยุโรปแตกสลาย และ ECB จะขาดการสนับสนุนทางการเมืองที่สำคัญ

หากแต่ละประเทศ มุ่งไปที่การเพิ่มอำนาจอธิปไตยของตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำในวิกฤตหนี้ในทศวรรษที่แล้ว แบบจำลองเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า จะทำให้เกิดผลลบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4% ภายในสิ้นปี 2565 และจะทำให้เขตยูโรเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

 

7.ผลกระทบจาก Brexit ที่เพิ่มขึ้น

การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เกี่ยวกับพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ — ความพยายามที่สิ้นสุดในการขยายขอบเขตของเขตแดน  และสหภาพศุลกากรแบบปิด   จะเริ่มชัดเจนในปี 2022 แต่การจะบรรลุข้อตกลงน่าจะเป็นเรื่องยาก

คำถามที่ตามมาคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากการเจรจาล้มเหลว? จากผลกระทบของ Brexit ในช่วงที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจะกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจและบ่อนทำลายค่าเงินปอนด์ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และรายได้ที่แท้จริงลดลง ในสงครามการค้าเต็มรูปแบบ การเก็บภาษีศุลกากร และการขนส่งสินค้า อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอีก

Brexit : Photo by pixabay

8.อนาคตของนโยบายการคลัง

1-2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละประเทศใช้เงินจำนวนมากในการสนับสนุนคนงานและธุรกิจในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19ครั้งใหญ่ แต่ตอนนี้หลายประเทศต้องการรัดเข็มขัดลดภาระงบประมาณ โดย UBS คาดการณ์ว่าการลดใช้จ่ายภาครัฐในปี 2565 จะเหลือเพียง 2.5% ของ GDP โลก ซึ่งมากกว่ามาตรการรัดเข็มขัดที่ชะลอการฟื้นตัวหลังจากวิกฤตปี 2551 ถึง 5 เท่า (ปี 2551 สูงถึง 12.5%)

ยกเว้น รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น ที่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่อีกครั้ง และทางการจีนได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหลังจากที่ได้ควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐมานาน

ในสหรัฐอเมริกา นโยบายการคลัง เปลี่ยนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นชะลอตัวในไตรมาสที่2ของปี 2564 ตามข้อมูลของสถาบันบรู๊คกิ้งส์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้า แม้แต่แผนการลงทุนด้านการดูแลเด็กและพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็อาจจะถูกลดทอนงบประมาณหากเข้าสู่สภาคองเกรส

9.ราคาอาหารและความไม่สงบ

“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ยังเป็นวลีที่ใช้ได้ตลอดกาล เมื่อท้องอิ่ม อะไรๆก็ดูจะสงบคลี่คลาย แต่หลายครั้งที่ประวัติศาสตร์ความไม่สงบในสังคม มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความหิว” ประกอบกับผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมกับสภาพอากาศเลวร้าย ส่งผลให้ราคาอาหารโลก ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอาจทำให้ราคาสูงขึ้นอีกในปีหน้า

การทะยานตัวของราคาอาหารครั้งล่าสุดในปี 2554 ก่อให้เกิดกระแสการประท้วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซูดาน เยเมน และเลบานอน ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก มีเพียงอียิปต์ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความยากลำบากที่ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชนจะไม่เป็นเพียงเรื่องในท้องถิ่นอีกต่อไป แต่ความเสี่ยงจากความไม่สงบในระดับภูมิภาคจะขยายวงกว้างมากขึ้น

10.การเมือง ทั้งระดับ ภูมิรัฐศาสตร์และท้องถิ่น

ความขัดแย้ง ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ตั้งแต่การปิดล้อมไปจนถึงการรุกรานโดยสมบูรณ์ อาจดึงเอามหาอำนาจโลกอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ เข้ามาพัวพันด้วย และอาจจะลุกลามเป็นการคว่ำบาตรที่จะยุติความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการล่มสลายในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออกทุกอย่างตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ทั่วโลก

แต่ถ้าบานปลายถึงขั้นกลายเป็น “สงครามมหาอำนาจ” จะถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด

จีนแผ่นดินใหญ่-ไต้หวัน

อะไรจะเกิดขึ้นในปี 2022?

  • ไม่ใช่ทุกความเสี่ยงที่จะมีข้อเสีย ตัวอย่างเช่น นโยบายงบประมาณของสหรัฐฯ อาจยังคงขยายตัวได้มากกว่าที่ปรากฏในตอนนี้ ทำให้เศรษฐกิจอยู่ห่างจากหน้าผาทางการคลัง และกระตุ้นการเติบโต
  • ทั่วโลก การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ครัวเรือนต่างๆชะลอการใช้จ่ายในปีนี้ ทำให้มีเงินออมมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีเงินออมเกินล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายคาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น
  • ในประเทศจีน การลงทุนในพลังงานสะอาดและที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนห้าปีฉบับที่ 14 ของประเทศแล้ว อาจช่วยเพิ่มการลงทุนได้ ข้อตกลงการค้าใหม่ของเอเชีย ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมผู้คน 2.3 พันล้านคนและ 30% ของ GDP ทั่วโลก สามารถกระตุ้นการส่งออกได้

ในปี 2563 จุดเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก แต่ปี 2564 เศรษฐกิจก็ไม่ได้แย่ลงซะทีเดียว ต้องยอมรับว่าในหลายประเทศจะเห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าถ้าหากมีการปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็ว สิ่งที่ดูจะเป็นวิกฤตก็อาจจะพลิกเป็นประโยชน์ในปีหน้าได้เช่นกัน

10 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกปี 2022

related