svasdssvasds

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศเพิ่มมาตรการคุมโรค สั่งปิดผับ บาร์ ทั่วราชอาณาจักร

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศเพิ่มมาตรการคุมโรค สั่งปิดผับ บาร์ ทั่วราชอาณาจักร

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศมาตรการคุมโควิด-19 และโอไมครอนระลอกใหม่ สั่งปิดผับ บาร์ ทั่วราชอาณาจักร มีผลวันที่ 9-31 ม.ค.65

 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า

 ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลก ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏกรณีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทําให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่า สายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลําดับ

 แม้ว่าจะได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศเป็นจํานวนมากแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนผู้ที่ได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ยังมีจํานวนไม่มากพอและอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคง ของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น

 รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข ที่ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงจําเป็นต้องกําหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการปรับพื้นที่สถานการณ์ และปรับปรุงมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคเพิ่มเติมจากข้อกําหนดและคําสั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เช็กสิทธิ! ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 ติดโควิด-19 รักษาฟรี-รับถึงบ้านใน 3 ชม.

• UPDATE ศบค. แบ่งเขตพื้นที่จังหวัดและมาตรการการควบคุม เริ่ม 9 มกราคม 2565

• ด่วน! ศบค.เคาะเพิ่ม 69 จังหวัดสีส้ม 8 จังหวัดท่องเที่ยว นั่งดื่มไม่เกิน 3 ทุ่ม

 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกําหนดพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ โดยให้ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่ควบคุม ยกเว้นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวตามบัญชี รายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นํามาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติ ที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้

 

ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุม แบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้ง มาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มาตรการควบคุม แบบบูรณาการจําแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นภายใต้ข้อกําหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงาน ของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาเพื่อดําเนินมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกสถานที่ตั้งหน่วยงานหรือสถานประกอบการ (Work From Home) ตามความเหมาะสมเพื่อการ เฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรค โดยให้ดําเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไป จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565

ข้อ 3 การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว สําหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวให้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ เพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสําหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จําแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ 5 และข้อ ๘ ของข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564

 การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ ในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว จะเปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐาน ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID – 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกาให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากําหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละพื้นที่

ข้อ 4 การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักรยังคงมีความจําเป็นให้ปิดดําเนินการไว้ก่อน หากผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ตามวรรคหนึ่งได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการ ให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับการตรวจสอบและประเมิน ความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กําหนด และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 15 มกราคม 2565 ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกํากับติดตาม ของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

 การให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ตามวรรคหนึ่งที่ได้ปรับรูปแบบ เป็นร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวจะต้องดําเนินการ ตามมาตรการที่กําหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย

ข้อ 5 การปรับแนวปฏิบัติเพื่อการดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสําหรับผู้เดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมแนวปฏิบัติเพื่อให้หัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ ป้องกันโรคที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด

จากที่ได้ประกาศไว้ในคําสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 25/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2564

ข้อ 6 การยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ด้วยการ ประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่จํานวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และ ทุกหน่วยงานยกระดับการปฏิบัติงานตามที่ได้มีคําสั่งมอบภารกิจไว้แล้วในคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 14/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติ ตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อการตรวจสอบและกํากับติดตาม การเปิดดําเนินการของสถานที่ การดําเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกัน และควบคุมโรค และตามแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะได้มี การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้เป็นระยะ

อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

related