svasdssvasds

สรุปให้ รัสเซีย-ยูเครน สงครามเดือด ท่าทีต่างชาติกับมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้

สรุปให้ รัสเซีย-ยูเครน สงครามเดือด ท่าทีต่างชาติกับมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้

รัสเซีย - ยูเครน กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่องท่าทีของแต่ละประเทศว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร หลังจากที่ประธานาธิบดีรัสเซียประกาศรับรองสถานะของโดเนตสก์และลูฮันสก์ ให้เป็นรัฐอิสระ ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน หลังจากที่รัสเซียนำกองกำลังนับแสนประชิดชายแดนยูเครน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนกำลังที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์ยังทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศรับรองสถานะของโดเนตสก์และลูฮันสก์ ที่ต้องการแยกตัวจากยูเครนให้เป็นรัฐอิสระ และได้ส่งกองกำลังเข้าไป ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้

 ท่ามกลางกระแสที่ก่อให้เกิดสงครามรัสเซีย - ยูเครน พร้อมปะทุในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้นำกว่า 10 ประเทศต่างออกมาแจ้งเตือนประชาชนให้เดินทางออกจากยูเครน ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิตาลี อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี รวมไปถึงประเทศไทย หลายชาติได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตที่ไม่จำเป็นเดินทางออกจากยูเครนเช่นกัน

ท่าทีต่างชาติกับความขัดแย้งในครั้งนี้

• สหรัฐอเมริกา

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันทำการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และยังห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันทำธุรกรรมด้านการบริการ, การซื้อขายสินค้าและเทคโนโลยี ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์

 รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มีคำสั่งอพยพนักการทูตและบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐทั้งหมดในยูเครน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองลวิลย้ายไปยังโปแลนด์ชั่วคราว หลังหวั่นวิตกเรื่องความปลอดภัย จากกรณีรัสเซียสั่งระดมกำลังทหารเข้าสู่แคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ของยูเครน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รัสเซีย - ยูเครน กับเงื่อนไขที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม

• ย้อนไทม์ไลน์ รัสเซีย - ยูเครน จุดเริ่มต้น ที่มา ของความขัดแย้ง อาจเป็นสงคราม

• สรุปให้ รัสเซีย​ -​ ยูเครน สถานการณ์ความตึงเครียดแนวชายแดนที่ทั่วโลกจับตา

ฝรั่งเศส 

 ก่อนหน้านี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ได้ออกแถลงการณ์ประณามการดำเนินการของรัฐเซีย แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารัสเซียจะสั่งให้กองกำลังบุกเข้าไปในยูเครนตะวันออก เพื่อปฎิบัติการธำรงรักษาสันติภาพตามที่ปูตินระบุเมื่อใด แต่ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ต่อสายพูดคุยกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นความพยายามทางการทูตล่าสุดในการพยายามห้ามปรามรัสเซียไม่ให้รุกรานยูเครน 

ยูเครน

 โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน แถลงวานนี้ว่า ยูเครนอาจตัดความสัมพันธ์กับรัสเซีย หลังจากที่ผู้นำรัสเซียได้ประกาศรับรองการเป็นรัฐเอกราชของดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์ ซึ่งเป็นพื้นที่แบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครนอย่างเป็นทางการไปแล้ว

โดยผู้นำยูเครนกล่าวว่า ตนกำลังพิจารณาคำร้องจากกระทรวงต่างประเทศที่ขอให้ตัดสัมพันธ์กับรัสเซีย เซเลนสกียังกล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรของยูเครนอย่ามัวแต่รอให้สถานการณ์ขยายวงไปมากขึ้นในการจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซีย ที่ควรรวมถึงการปิดโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ของรัสเซียที่สร้างขึ้นใต้ทะเลบอลติกสู่ยุโรปด้วย

อังกฤษ

 บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษจะทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย ไม่เพียงแต่มุ่งเป้าไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในดอนบาส ลูฮันสก์ และโดเนตสก์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัสเซียเองด้วย โดยจะพุ่งเป้าไปที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียให้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

 

 

 

 

 

เยอรมนี

 โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เผยว่า เยอรมนีได้ระงับโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ในทะเลบอลติก ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มการส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนีเป็นสองเท่า หลังจากที่รัสเซียประกาศรับรองพื้นที่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 2 แห่งในยูเครนตะวันออก

ญี่ปุ่น

 ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเคยเรียกร้องให้ปูตินใช้ความอดกลั้น แถลงว่า การกระทำของรัสเซียเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมจะตอบโต้อย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมการคว่ำบาตรของสหรัฐและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ

 ท่าทีแข็งกร้าวขึ้นของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้แตกต่างกับในอดีตที่ญี่ปุ่นใช้การทูตที่อ่อนโยนกับรัสเซีย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นชุดก่อนๆ ต้องทำท่าเป็นมิตรกับปูตินเพื่อหวังว่าจะได้เกาะที่กองทัพรัสเซียยึดครองหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับคืนมา

สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)

 บอร์ดบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) มีแผนที่จะงดจัดการแข่งขันยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รอบชิงชนะเลิศ ประจำฤดูกาล 2021-2022 ที่สนามเครสตอฟสกี สเตเดียม หรือกาซพรอม อารีนา ในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย สาเหตุเนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย พยายามผลักดันให้กองกำลังทหารบุกเข้าโจมตียูเครน หลังจากที่เขาเพิ่งลงนามกฤษฎีกา ยอมรับการประกาศแยกตัวเป็นอิสระของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮานสก์ ทางตะวันออกของยูเครนแล้ว แล้วย้ายสังเวียนไปที่อื่นแทนในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้

ประเทศไทย

 ส่วนท่าทีของประเทศไทย ทางฝั่งรัฐบาลยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน แต่ล่าสุดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ โพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน และการดูแลคนไทยในยูเครนว่า ได้ตั้งกลุ่มไลน์พิเศษสำหรับการติดต่อสื่อสาร ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ และกลุ่มคนไทยในยูเครน ที่มีประมาณ 250 คน เพื่อแจ้งข่าวสารที่สำคัญและเป็นช่องทางติดต่อระหว่างกันอย่างทันท่วงที

 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้ร่วมกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศเตือนคนไทยที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยูเครนในระยะนี้ เนื่องจากความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครนและขอให้คนไทยในยูเครนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 โดยทีมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยังเมืองลวีฟของยูเครน (วันที่ 13-15 ก.พ.)  เพื่อสำรวจความพร้อมในการที่จะใช้เมืองลวีฟ เป็นฐานในการอพยพคนไทยกลับประเทศไทย หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินโดยเครื่องบิน หรือให้เดินทางเข้าโปแลนด์เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

 ด้าน ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน ผ่านราการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า สถานการณ์ขณะเนี้ท่ากับเป็นการจุดไฟสงคราม หลัง 6 ชม.ที่ผ่านมา ปูติน ประกาศรับรองเอกราชของ 2 รัฐที่แยกออกไปในภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมส่งกำลังทหารเข้าไปคุ้มครองในยูเครน โดยอ้างเรื่องปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และฝ่ายตะวันตกตอบโต้ว่าไม่ใช่พื้นที่รักษาสันติภาพ จึงเป็นที่ของการเรียกประชุมฉุกเฉินในสมัชชาความมั่นคงของยูเอ็นตามคำเรียกร้องของยูเครน ขณะที่สหรัฐยังคาดหวังเจราจาทางการทูตกับรัสเซียที่ยังเปิดช่องอยู่

 อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชาติ คิดว่า ขณะนี้รัสเซียมี 3 ทางเลือกใหญ่ โดยทางเลือกที่สุดโต่งที่สุดคือสงครามใหญ่ โดยใช้ทั้งกำลังทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ เนื่องจากปัจจุบันกำลังรบทางเรือถูกวางในทะเลดำแล้ว ซึ่งถ้าตัดสินใจเปิดสงครามใหญ่ ขอรับประกันว่าใหญ่แน่  และคำถามจะขยายเป็นสงครามโลก หรือจะออกไปในลักษณ์สงครามเกาหลีในอดีต

 แต่ถ้าลดระดับลงมาเป็นการใช้กำลังแบบจำกัด คือใช้กำลังเข้ายึดพื้นที่บางส่วน แต่คงหนีไม่พ้นการรบ ความสูญเสียก็ตามมา แต่มองว่าการที่ปูตินประกาศรับรองเอกราช 2 รัฐแยกออกไปในยูเครน ถือเป็นการใช้มาตรการทางการทูตเชิงบังคับ เป็นระดับที่ต่ำสุด เพราะเมื่อประกาศผนวกทั้ง 2 รัฐ ถือเป็นรูปแบบสงครามใหม่ โดยทางทหารเรียกว่า Hybrid warfare หรือ สงครามพันทาง 

 ท่าทีของโลกตะวันตกต่อสถานการณ์ดังกล่าว คงต้องรอดูผลการประชุมสมัชชาความมั่นคงจะออกมติอย่างไร แน่นอนว่าจะออกมารูปแบบการประณามหรืออะไรก็แล้วแต่หรือถูกวีโต้ แต่คิดว่า สิ่งต้องพิจารณามีการผูกโยง 2 ส่วน คือ ท่อแก๊สรัสเซียขายให้กับยุโรป หลายฝ่ายเชื่อว่า รัสเซียจะตัดแก๊ส และยุโรปจะมีปัญหา 

 แต่ในขณะเดียวกันมาตรการฝั่งตะวันตก การประชุมด้านความมั่นคงที่มิวนิค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่เป็นเรื่อง วิกฤตยูเครน สิ่งที่เราเห็นกำลังเข้าสู่จุดพลิกผันที่สำคัญ แต่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่คงต้องติดตาม แต่เราเห็นขั้นตอนแรกคือการใช้มาตรการทางการทูตเชิงบังคับเกิดขึ้นแล้ว เท่ากับวันนี้กำลังรบรัสเซียเข้าประชิดมากขึ้น

 ส่วนการตอบโต้ทางทหารของโลกตะวันตก ผ่านคำขู่ ทั้งสหรัฐ อังกฤษนั้น ตนคิดว่า หากตะวันตกเคลื่อนกำลังเข้าไปซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขส่งกำลังส่งเข้าไปหลักพันต้นๆ ไม่มีความหมายอะไร ในทางกลับกันถ้าส่งกำลังเข้าไปมาก จะเกิดปัญหาความตึงเครียดมากขึ้น เราจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน รัสเซียจัดกำลังใหม่สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมรบ และสิ่งใหญ่ที่สุด ที่เราไม่เคยเห็น คือการประกาศซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ดังนั้นตะวันตกคงชั่งใจมากพอสมควร อย่างไรก็ตามคงต้องใช้เวทีต่างๆ เป็นเครื่องมือกดดัน

 ดร.สุรชาติ กล่าวถึงประเด็น ที่หลายฝ่ายมองว่า ไบเดน ไม่พร้อมทำสงครามเต็มรูปแบบกับรัสเซียนั้น คงไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการทูต เพราะว่าถ้าตัดสินใจเปิดสงคราม จะกลายเป็นสงครามโลกแน่นอน และ ปูตินคงไม่ยอมจะให้เปิดถึงขนาดนั้น และ เหตุการณ์แบบนี้คือสิ่งกับสหรัฐมาเมื่อ 60 ปีที่แล้วกับการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ในห้วงที่รัสเซียนำขีปนาวุธและหัวรบนิวเครียร์ไปตั้งคิวบาร์แล้วเกิดการกดดัน เป็นอาการเดียวกันที่ทางสหรัฐให้เปิดการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ต่อคิวบาร์ ซึ่งปีนี้ครบ 60 ปีพอดี ก็เป็นโจทย์เดิม ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามรั้งสถานการณ์ จนนำไปสู่การเจรจาและจบลงด้วยการถอนขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ออกจากคิวบาร์ แลกด้วยการถอนขีปนาวุธ หัวจรวดของอเมริกันออกจากตุรกี

 ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับรอบนี้คงต้องดู แต่คิดว่าทั้งโลกตะวันออก และโลกตะวันตก ไม่มีใครอยากเห็นสงครามใหญ่เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีถ้าเดินหน้าต่อ สถานการณ์จะเปราะบางมาก และวันนี้ทุกคนประเมินเหมือนกันหมด ถ้าเกิดการรบใหญ่ที่ยูเครน จะเป็นสงครามใหญ่ที่สุดนับจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่2 เท่ากับสุ่มเสี่ยงจะเป็นสงครามโลก

ขณะที่ ท่าที่กลุ่มประเทศอียู หากใช้วิธีการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ ด้วยการหยุดท่อส่งแก๊สจากรัสเซียที่ป้อนมานั้น อียูเองจะประสบวิกฤตทางด้านพลังงาน ในขณะที่สหรัฐอาจจะต้องเข้ามาประคอง อียู  แต่ในขณะเดียวกันผลต่อรัสเซียก็จะหนักเช่นกัน หากถูกแซงชั่น มาตรการเต็มรูปแบบ แปลว่ารัสเซียจะถูกดึงออกจากรูปแบบประชาคมทั้งทางเศรษฐกิจของยุโรป 

 ดร.สุรชาติ ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนที่รัสเซีย ไม่กลัวกับมาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เพราะตกอยู่ในสถานการณ์นี้มาตลอด หากเป็นไปตามนั้น ก็จะกลับไปสู่มาตรการการใช้กำลังทางทหาร หรือการยกระดับมาตรการทางการทูต แต่คาดหวังว่ามาตรการนี้จะไม่ยกไปสุด  

 ส่วนโอกาสการเจรจานั้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวัง แต่สิ่งที่รัสเซียกลัวมากที่สุดก็คือ ตะวันตกจะรุกประชิดเข้ามาทางด้านชายแดน และปัญหาใหญ่ที่รัสเซียกำลังเผชิญอีกอย่างคือ รัฐที่แยกตัวออกเป็นเอกราช ที่รัสเซียมองว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ไม่ประสงค์ให้ตะวันตกเข้ามา แต่รัฐเหล่านี้ อยากมีความสัมพันธ์กับตะวันตกและใหญ่ที่สุดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง ด้วยการเข้าร่วมกับนาโต้เพราะฉะนั้น รัสเซียไม่อยากเห็นสหรัฐเอานาโต้ เข้ายูเครน ถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังติดตามว่า สหรัฐจะยอมหรือไม่ ที่จะไม่รับในมิตรภาพของยูเครน จากนี้คงต้องรอดู ว่าสถานการณ์จะจบแบบสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่

ที่มา :  เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand

 

 

 

 

related