svasdssvasds

เช็กเลยยา 3 สูตรรักษาโควิด-19 'เจอ แจก จบ' แจกผู้ป่วยแบบ OPD 1 มี.ค.นี้

เช็กเลยยา 3 สูตรรักษาโควิด-19 'เจอ แจก จบ' แจกผู้ป่วยแบบ OPD 1 มี.ค.นี้

เช็กเลยยา 3 สูตรรักษาโควิด-19 'เจอ แจก จบ' แจกผู้ป่วยแบบ OPD 1 มี.ค.นี้ แพทย์ชนบทแนะ ‘เจอ-แจก-จบ’ คืออีกทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด แต่ต้องไม่ใช่แนวทางหลักทางเดียว

ความคืบหน้าล่าสุด "เจอ แจก จบ" เตรียมใช้แล้วสำหรับผู้ป่วย "โควิด" โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดแนวทางการจัดบริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 โดยจัดระบบบริการเพิ่มขึ้นแบบผู้ป่วยนอก คือ ตรวจผู้ที่สงสัย หรือมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก จะให้การรักษาด้วย ยา 3 สูตร ที่เรียกว่า "เจอ แจก จบ"

เพื่อต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) คือ โรคลดความรุนแรงลง มีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โรคไม่ได้มีภาวะอันตราย

ยา 3 สูตร มีดังนี้

-ยารักษาไวรัสโดยตรง คือ ฟาวิพิราเวียร์ 
-ฟ้าทะลายโจร 
-ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ ตามอาการที่มี 

ทั้งนี้ การให้ยาขึ้นดุลยพินิจแพทย์พิจารณาว่าจะให้ยาแบบใด ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ สำหรับกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็สามารถใช้ระบบการดูแลเพิ่มตรงนี้ได้ แต่อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์

หากมีความเสี่ยงมากก็พิจารณารับเป็นผู้ป่วยในได้ ทั้งนี้ ย้ำว่า ระบบเดิมยังมี แต่จัดบริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมา เพื่อสะดวกต่อการมารับบริการ โดยจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ขณะที่  นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ทัศนะแพทย์ชนบท ว่าด้วย “เจอ-แจก-จบ

แนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “เจอ-แจก-จบ” โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ที่กำลังจะประกาศใช้ 1 มีนาคม 2565 โดยมีชุดความคิดหลักคือ การรักษาผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยสีเขียวนั้น ให้โรงพยาบาลต่างๆรักษาแบบ OPD case คือ เจอผู้ติดเชื้อ ให้จ่ายยา แล้วให้กลับบ้านไปทานยาดูแลตนเองและกักตนเอง (โดยไม่ต้องเข้าระบบ Home isolation ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และในส่วนของการจ่ายยานั้น ให้มียาสามระดับคือ ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย และยารักษาตามอาการเช่นยาไข้ ยาไอ ยาลดน้ำมูก สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทได้มีการถกกัน และมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะดังนี้

1. ชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขสำหรับแนวคิดเรื่อง “เจอ-แจก-จบ” และ “การจ่ายยาเป็น 3 ระดับ” ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกับโควิด ลดภาระของสถานบริการ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องใช้งบจากเงินกู้ รวมทั้ง เป็นอีกแนวทางที่สอดรับการระบาดของเชื้อโอไมครอนที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

2. อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขสื่อสารให้ชัดเจนว่า “แนวทาง เจอ-แจก-จบ” นั้นเป็นอีกแนวทางทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบ OPD case แต่ต้องไม่ใช่แนวทางหลักหรือแนวทางเดียวของการดูแลผู้ป่วยโควิด เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือการสื่อสารที่ขาดความชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดของประเทศไทย จะประกอบด้วย การ admit เข้า โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม CI HI หรือรักษาแบบ OPD case (เจอ-แจก-จบ) ตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์หรือวิชาชีพสุขภาพจะพิจารณา ให้สอดคล้องกับบริบททั้งของผู้ป่วย การระบาด และความเพียงพอของเตียงและกำลังคนในสถานพยาบาล

3. ข้อน่าห่วงกังวลประการสำคัญของ แนวทาง “เจอ-แจก-จบ” คือ การหย่อนมาตรการการควบคุมโรค เพราะการอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวเองและดูแลตนเอง 10 วัน เสมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป อาจมีบางคนที่มีความจริงจังในการกักตัวน้อย หรือบางรายก็มีข้อจำกัดเรื่องที่พักที่คับแคบ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคสูงขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดน้อย อาจต้องใช้การกักตัวใน CI หรือ HI ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล ซึ่งจะช่วยลดการระบาดได้มากกว่าการใช้แนวทาง “เจอ-แจก-จบ”

4. อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” คือ เมื่อแนวทางนี้เป็นการรักษาแบบ OPD case ทำให้โรงพยาบาลต่างๆไม่สามารถขอรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดจากงบการรักษาพยาบาลกองกลางของรัฐบาลได้ ต้องใช้งบจากเงินจัดสรรรายหัวตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของกองทุนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเอง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แม้ค่ายาจะไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายของชุด PPE รวมทั้งค่าจ้างค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากระบบปกติ ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขควรหารือเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานต่างๆเพื่อกำหนดวิธีการเบิกค่าใช้จ่ายคืนให้กับทางโรงพยาบาลในลักษณะ Fee for Schedule ด้วย ไม่ควรผลักภาระให้กับโรงพยาบาลและ รพ.สต.

5. ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า เราต้องอยู่กับโควิดให้ได้ (ซึ่งควรเป็นเช่นนั้น) ด้วยการประกาศให้โควิดเป็น endemic disease แทนการเป็นโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการควบคุมโรคโควิดได้แล้ว เพราะหมดความจำเป็นแล้ว และถอดโรคโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย จึงจะทำให้เกิดความสมเหตุสมผล มิเช่นนั้นก็จะเกิดความลักลั่นสับสนของทั้งในระดับหลักการและในระดับปฏิบัติ

“เจอ-แจก-จบ” คืออีกทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด แต่ต้องไม่ตอกย้ำจนกลายเป็นทางหลักทางเดียวนะครับ

related