svasdssvasds

การแจ้งเกิดทางการเมือง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

การแจ้งเกิดทางการเมือง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เรื่องราวการแจ้งเกิดทางการเมือง ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , อภิรักษ์ โกษะโยธิน และชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนอัปเลเวลเข้าไปโลดแล่นในการเมืองระดับประเทศ

ในอดีตมีผู้สมัครเลือกตั้งว่าฯ กทม. หลายราย ได้ใช้สนามนี้เพื่อเปิดตัวทางการเมือง และก็มีจำนวนไม่น้อยที่แจ้งเกิดได้สำเร็จ สามารถผันตัวเองเข้าสู่การเมืองระดับประเทศได้ อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , อภิรักษ์ โกษะโยธิน และชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นต้น ส่วนการการแจ้งเกิดของทั้งสาม มีที่มาและดำเนินไปอย่างไร SpringNews ขอนำมาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้เคยสร้างกระแสจำลองฟีเวอร์ ในยุคที่เขาเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยแรก และสมัยที่ 2 ซึ่งก่อนจะลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เขาเคยเป็นเลขาธิการนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง

แต่ช่วงที่จำลองเป็นเลขาธิการนายกฯ บทบาททางการเมืองยังไม่เด่นชัดนัก เพราะเป็นสายตรงของ พล.อ.เปรม ไม่ได้ข้องแวะกับพรรคการเมืองใดๆ กระทั่งลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2528 ในลุคสมถะ ใช้ฝาเข่งเป็นป้ายหาเสียง ก็โดนใจชาว กทม.เป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ พล.ต.จำลอง ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2533 พล.ต.จำลอง ก็ลงสมัครอีก ซึ่งจากการสร้างผลงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ที่ถือว่าอยู่ในระดับน่าประทับใจ ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 อย่างถล่มทลาย

ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารในปี 2534 และการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2535 พล.ต.จำลองก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเข้าสู่การเมืองระดับประเทศอย่างเต็มตัว และด้วยความร้อนแรงของกระแสจำลองฟีเวอร์ ทำให้พรรคพลังธรรมที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ได้ ส.ส. สูงเกินมาตรฐานพรรคเกิดใหม่ โดยได้ ส.ส. ทั้งสิ้น 35 คน และในจำนวนนี้เป็น ส.ส. กทม. ถึง 32 คน เรียกได้ว่ากวาดชนะเกือบทุกเขตในสนาม กทม. เลยเชียว

และในการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกันยายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ พล.ต.จำลองมีบทบาทเป็นอย่างสูง พลังธรรมได้ ส.ส. 45 คน แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้  

พล.ต.จำลอง โลดแล่นอยู่ในการเมืองสนามใหญ่ช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งเมื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตคนเคยรัก เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังธรรม เขาก็กลับมาสู่การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2539

แต่ด้วยกระแสจำลองที่ไม่ร้อนแรงเหมือนดังอดีต ประกอบกับการพยายามปรับลุคการแต่งตัวให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ที่อาจขัดใจกลุ่มแฟนคลับดั้งเดิม และที่สำคัญก็คือ ความโดดเด่นของ ดร.โจ้ พิจิตต รัตตกุล ที่ชูนโยบายค่อนข้างโดนใจคน กทม. ทำให้ พล.ต.จำลอง ต้องพ่ายแพ้ศึกในครั้งนั้น

บทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าสนใจ

อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.

2. อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้บริหารระดับสูงในหลายๆ องค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2547 จึงถือว่าเป็นการเปิดตัวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็นครั้งแรก และก็สามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต่อมาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 อภิรักษ์ก็ลงแข่งขันอีก แล้วก็สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ในสมัยที่ 2

แต่อภิรักษ์ก็อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ไม่ครบเทอม โดยได้ตัดสินใจลาออกในปี 2552 หลังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด การจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ แม้กฎหมายในเวลานั้นยังไม่มีข้อบังคับให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่อภิรักษ์ให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองไทย

ในปี 2562 อภิรักษ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในเวลานั้น แล้วได้เป็น ส.ส.กรุงเทพฯ จากการชนะเลือกตั้งซ่อม ปี 2553 ส่วนเรื่องคดีความช่วงที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. อภิรักษ์ก็ได้รับการตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา

เส้นทางการเมืองในสนามใหญ่ขออภิรักษ์ โดยภาพรวมถือว่าไม่ค่อยโดดเด่นนัก ปัจจุบันแม้ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ก็แทบไม่มีบทบาทใดๆ

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

3. ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้ง ในปี 2547 และปี 2551 แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คะแนนหลักแสนที่ได้รับ ก็ถือว่ามีมูลค่าสูงทางการเมืองเป็นอย่างมาก เขาจึงกลายเป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่แพ้เลือกตั้ง แต่สามารถแจ้งเกิดทางการเมืองได้สำเร็จ โดยได้รับการทาบทามจากพรรคชาติไทย ให้เข้าสู่การเมืองสนามใหญ่ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ในปี 2548

ต่อมาชูวิทย์เกิดความขัดแย้งกับบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จึงลาออกจากพรรค แล้วลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้งในปี 2551 แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ได้ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงสะท้อนให้เห็นว่า สไตล์โผงผางในแบบฉบับชูวิทย์ ถูกอกถูกใจประชาชนไม่ใช่น้อยๆ

และในการเลือกตั้ง ปี 2554 พรรครักประเทศไทยที่ชูวิทย์ก่อตั้งขึ้นมา ก็แจ้งเกิดทางการเมืองในสนามใหญ่ได้สำเร็จ จากการประกาศจะเข้าไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาล โดยพรรครักประเทศไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 4 คน

ทุกวันนี้แม้ชูวิทย์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็น Commentator ทางการเมือง ที่สื่อต่างๆ ให้ความสำคัญค่อนข้างสูง

related