svasdssvasds

“เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” เพจสะท้อนปัญหาทางเท้า ที่หนักใจคนกรุง

“เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” จากคนที่เจอปัญหาสู่เพจที่สะท้อนปัญหาทางเท้าและเรียกร้องสิทธิ์ของคนเดินเท้าให้กลับมาจากร้านค้าแผงลอยและทางเท้าที่ไม่มีคุณภาพ พร้อมตั้งคำถาม ทำไมเอกชนยังทำได้กีกว่า หรือเพราะราชการไม่ได้ทำให้ดีตั้งแต่แรก ?

“เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” หนึ่งในเพจที่สะท้อนปัญหาทางเท้าในประเทศไทย ผ่านเพจ Facebook ซึ่งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งจากที่แอดมินพบเจอและจากที่แฟนเพจพบเจอ

SPRiNG ได้มีโอกาสพูดคุยกับแอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่ประสบปัญหากับทางเท้าและประสบอุบัติเหตุด้วยตนเองกับทางเท้าที่ไม่ค่อยเจอเอื้อกับคนเดินเท้าสักเท่าไหร่

เขาเล่าว่า เหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่เขาเคยเจอมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ จากการใช้ทางเท้าคือ เขาเองเกือบถูกรถชนใจกลางกรุง ย่านสยาม โดยเป็นช่วงที่สยามยังมีร้านค้าแผงลอยขายอยู่เต็มทางเท้า ทำให้เขาต้องลงไปเดินบนถนน และเกือบถูกเชี่ยวชน ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อช่วงปีก่อน คือ หกล้มบริเวณสะพานลอยหน้าสถานีขนส่งหมอชิต ไปกระแทกกับขอบสะพานจนกระดูกซี่โครงร้าว เนื่องจากฝนตกและทางเท้าที่ไม่เสมอกัน เมื่อก้าวไปด้วยความเร่งรีบ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

จุดเริ่มต้นของ เพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์”

แอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” เล่าว่า ช่วงที่เขาจบรัฐศาสตร์มาใหม่ ๆ ด้วยความที่สาขาที่เขาเรียนสอนให้มองทุกสิ่งรอบ ๆ ตัว จึงเริ่มสังเกตจากสิ่งใกล้ตัวที่สุดคือทางเท้า จนเกิดความสงสัยว่า “ทำไมทางเท้าประเทศไทย ถึงไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่เดินสะดวกสบายมากกว่าประเทศไทย”

“ในช่วงแรก ๆ ผมก็ลงพื้นที่ด้วยตนเอง จากการสืบเสาะหาจุดที่ทางเท้าไม่ดี แต่หลังจากเพจเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็เริ่มมีแฟนเพจเข้ามารายงานเรื่องต่าง ๆ ที่เจอมากขึ้น” แอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” เล่า

อ่าน : เพจขาเกือบพลิก ชวนตั้งคำถามทางเท้าในกทม ภูมิใจจุดประกายคน เห็นความไม่ปกติ

ผมอยากเห็นทางเท้าเมืองไทย เป็นหมือนต่างประเทศ แต่คงเป็นไปได้ยาก

ด้วยโครงสร้างและผังเมืองของกรุงเทพฯ มีโอกาสเป็นไปได้ยากที่จะเป็นได้เหมือนต่างประเทศ ที่มีทางเท้าที่เดินสบายและร่มรื่น เพราะต้องลดหน้าถนนลง

แอดมินเพจ เล่าว่า “ถามว่าอยากให้ทางเท้าเมืองไทยเป็นเหมือนในต่างประเทศไหม ผมก็อยากเห็นนะครับ แต่คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งสำหรับประเทศไทย ผมว่า ทำทางเท้าให้มีมาตรฐาน คงทน ไม่มีสิ่งกีดขวางได้ เท่านั้ผมก็ว่าโอเคแล้ว”

“ถ้ามีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนกล้าลดเลนถนนเพื่อมาทำทางเท้าให้สวยงาม ผมจะรู้สึกยินดีมาก ๆ เลย” แอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” เล่าติดตลกระหว่างพูดคุยกับ SPRiNG

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือ คุณภาพทางเท้า-ร้านแผงลอย-ป้าย

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ แอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” พบ คือ ความคงทนแข็งแรงของทางเท้าที่มักผุพัง แอดมินเพจตั้งขอสงสัยว่า ทำไมทางเท้าบางจุดที่เอกชนทำถึงคงทนแข็งแรงและสวยงามมากกว่าของราชการ

ปัญหาต่อมาที่พบคือ การค้าขายของร้านค้าแผงลอย ที่เบียดเบียนผู้ใช้ทางเท้า และ ปัญหาป้ายและเสาต่าง ๆ ที่กีดขวางการเดินเท้า แอดมินเพจ ตั้งข้อสังเกตต่อว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างเสรีในการตั้งป้ายต่าง ๆ” ขณะเดียวกันหากมองย้อนไปในต่างประเทศการตั้งป้ายต่าง ๆ มีการเอื้อให้กับผู้ใช้ทางเท้ามากกว่าประเทศไทย ทั้งการตั้งชิดขอบทางเท้าเอง หรือ การตั้งไม่ให้คนเดินเท้าต้องมุดลอดป้ายเพื่อผ่านทาง

อ่าน : พรรคก้าวไกล โชว์นวัตกรรมสุดล้ำ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาทางเท้าชำรุดทรุดโทรม

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากทำเพจเกิดขึ้นกับคนมากกว่าสถานที่

สิ่งหนึ่งที่แอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” สังเหตุเห็นหลังจากทำเพจ คือ ผู้คนจากเดิมที่ผู้คนมักคิดว่าสาเหตุที่ทางเท้าพังเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ร้านค้าหาบเร่แผงลอยเพียงอย่างเดียว แต่หากราชการทำทางเท้าให้คงทนแข็งแรงตั้งแต่แรก ทางเท้าก็จะใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ขณะที่แฟนเพจเมื่อเข้ามาติดตามแล้ว แฟนเพจเองก็สังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น มีการเรียกร้องสิทธิ์ในการใช้ทางเท้ามากขึ้น หลังจากทนกับการถูกเบียดเบียนทางเท้ามากขึ้น

ฝากถึงอนาคต ผู้ว่าฯ กทม.

ในฐานะแอดมินเพจ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” ที่สะท้อนเรื่องราวของทางเท้า เขาระบุว่า อยากให้อนาคตผู้ว่าฯ กทม. ออกแบบทางเท้าให้มีมาตรฐานที่แข็งแรง อายุยืน รวมถึงกวดขัน-จัดระเบียบร้านค้าแผงลอย ไม่ให้มาเบียดเบียนคนเดินเท้า ขณะที่ทางเท้าก็ต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้ด้วย ทั้งคนเดินเท้าและผู้พิการ

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของฝาท่อที่อยู่บนทางเท้าที่อาจทรุดและไม่เสมอกับทางเท้าจนทำให้คนเดินเท้ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงหากเป็นไปได้หากอนาคตผู้ว่าฯ กทม. สามารถเร่งนำสายสื่อสารต่าง ๆ ลงดินได้ทั้งหมด ก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้ภูมิทัศน์เมืองดีขึ้นด้วย