svasdssvasds

ทางหลวงน่าน แจงปม เสาหลัก ริมถนน สอดไส้ ไม้ไผ่ เป็นเสายางพารา "ไม่มีทุจริต"

ทางหลวงน่าน แจงปม เสาหลัก ริมถนน สอดไส้ ไม้ไผ่  เป็นเสายางพารา "ไม่มีทุจริต"

แขวงทางหลวง จ.น่าน ชี้แจงแล้วปม "เสาหลักนำทาง" หรือ "เสานิรภัย" ริมถนน มีการสอดไส้ "ไม้ไผ่" ยันเป็น "เสายางพารา" ที่นำมาใช้แทนเสาปูน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลอีกทาง ไม่มีการทุจริตแน่นอน 

จากกรณีบนโลกโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพ “เสาหลักนำทาง” หรือ “เสานิรภัย” สีขาวดำ ตั้งอยู่ริมถนนพื้นที่ จ.น่าน มีลักษณะแตกหัก โดยภายในเสา มีการสอดไส้คล้าย "ไม้ไผ่" ไม่ใช่เสาปูนอย่างที่หลายคนเข้าใจ จนมีการตั้งคำถามกันว่า เป็นการทุจริตหรือไม่

ล่าสุดนายนิรันดร์ ครองงาม รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงที่ 1 น่าน ชี้แจงว่า เสาดังกล่าวทำมาจากยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันอุบัติเหตุอีกทาง เพราะมีความปลอดภัยมากกว่าเสาปูน แต่อาจจะมีปัญหาถูกไฟป่าไหม้ได้

“ขอยืนยันว่าไม่มีการทุจริตแน่นอน ที่ใส่สอดไส้ไม้ไผ่ไว้ด้านใน เพื่อให้เสามั่นคง ไม่โยกเยก และสะดวกต่อการติดตั้งครั้งแรกเท่านั้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สำหรับจ.น่านดำเนินการติดตั้งตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 2,086 ต้น ราคาต้นละ 2,050 บาท แทนเสาแท่งปูนซิเมนต์ที่หมดอายุการใช้งาน แต่ละต้นจะมีความสูง 140 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 3-4 ปี โดยถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ติดตั้งจำนวน 260 ต้น

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลให้กรมใช้ยางพาราน้ำ จำนวน 9,000 ตันต่อปี ซึ่งกรมจะใช้ในรูปแบบพาราสลาลี่ซีล และพาราแอสฟัลท์ จำนวน 5% และมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2561 ใช้ในการฉาบผิวถนนไปแล้ว 1,000 ตัน อีก 8,000 ตัน หากนำมาใช้แบบเดิมจะมีค่าใช้จ่าย 4,000 ล้านบาท

 

 

ทางกรมทางหลวงจึงได้หารือร่วมกับการยาง เปลี่ยนยางพาราน้ำเป็นแผ่น ใช้กับเสาหลักนำทาง ที่กั้นขอบทาง ทางเท้า และหลักกิโลเมตร โดยเสาหลักนำทางใช้ยางประมาณ 15 กิโลเมตรต่อ 1 ต้น งบในการจัดซื้อยางจากงบเหลือจ่ายไม่เกิน 500 ล้านบาท ตั้งเป้าต่อปีใช้ประมาณ 120,000-130,000 ต้นทั่วประเทศ ต้นทุนต่อต้นประมาณ 2,600-2,700 บาท จากเดิมหลักคอนกรีต 800 บาทต่อต้น

ต้นทุนแพงกว่าแต่สามารถช่วยรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้มากว่าเดิม นอกจากนี้ ในอนาคตจะขอความร่วมมือการยางฯ ในการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้ยางพารา เช่น แบริเออร์ก่อสร้างที่ใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตร ที่กั้นขอบทาง และทางเท้า อีกทั้งยังเตรียมหารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณให้สามารถบรรจุการซื้อยางพาราในงบประมาณประจำปีด้วย

related