สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา “ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสงฆ์” เมื่อวันที่ 18 พ.ค. โดยผู้ร่วมเสวนา พีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact Thailand และวุฒิชัย พุ่มสงวน ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้
พีรวัฒน์ โชติธรรมโม : กรณีหลวงปู่แสง ไม่ใช่แค่ถอดบทเรียน แต่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
นายพีรวัฒน์ กล่าวว่า คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ หลวงปู่แสง ญาณวโร แม้ว่าดูว่าเป็นวิกฤตศรัทธาสื่อมวลชนมาก แต่ตนอยากให้เป็นจุดเปลี่ยนคือจุดที่เราจะได้หยุดทบทวนและมองเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ถอดบทเรียน แต่นำมาสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง
ภาวะที่เกิดเวลานี้คือการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อ มีเหตุมีผลที่บอกว่าทีวีดิจิทัลจะต้องแข่งขันกัน ตัวเลขค่านิยมหรือเรตติ้งคือตัวกำหนดที่ทำให้องค์กรหรือกองบรรณาธิการของแต่ละสถานี จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้รายการข่าวหรือสถานีมีเรตติ้งเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้
ดังนั้นทุกครั้งที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาในองค์กรวิชาชีพ จะมีเสียงอีกมุมหนึ่งมาเสมอว่ามันเป็นสิ่งที่กองบรรณาธิการเจ็บปวด แต่เราจำเป็นเพราะว่าต้องรักษาเรตติ้ง ไม่เช่นนั้นโอกาสในการสร้างรายได้จะกระทบ
พีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามในมุมของตนการแข่งขันมันเดินมาถึงจุดที่เรียกว่าคุณทำมากกว่านี้ เรตติ้งก็ไม่เพิ่มมากกว่านี้ กลุ่มคนดูในช่วงไพร์มไทม์มีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ติดตามเรื่องบันเทิงดูละคร เกมโชว์ กับกลุ่มที่สนใจเนื้อหาสาระของรายการข่าว วัดค่านิยมในช่วงนี้ประมาณ 20 ล้านคน
เมื่อก่อนร้อยละ 80 ไปอยู่ที่รายการบันเทิง อีกร้อยละ 20 อยู่ที่รายการข่าว แต่ปัจจุบันนี้รายการข่าวตีตื้นขึ้นมาในระดับที่เรียกว่าเกือบทำเรตติ้งไล่หรือชนะละครหลายเรื่อง แต่เท่าที่ตนศึกษามาล่าสุด ไม่ว่าเราจะผลักดันอย่างไร ไม่ว่าเราจะสร้างคอนเทนต์ขนาดไหน เราก็ไม่ทะลุเพดานเรตติ้งที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่ทะลุเพดานเรตติ้ง รายการทีวีที่เป็นรายการข่าวดังๆ ตนพบว่ามีพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7
พีคอยู่ที่ 2.8 ยกเว้นมีเหตุการณ์สด เช่น กรณีถ้ำหลวง จะทะลุถึง 3 กว่าได้ เมื่อหันมาดูรายได้ก็พบว่ารายได้บนราคาโฆษณาต่อนาทีก็ไม่สามารถเพิ่มรายได้ต่อนาทีได้มากกว่านี้ จึงทำให้บางสถานีต้องมีข่าวช่วงหนึ่ง ช่วงสอง เพื่อเพิ่มนาทีการขายให้มีรายได้มากขึ้น ดังนั้นภาพรวมยังมีโอกาสที่จะสามารถทบทวนได้ว่าการแข่งขันแบบนี้มันคุ้มค่า สร้างรายได้ มากเพียงพอที่จะเสียจุดยืนสื่อหรือไม่
“เคสที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่แสงเห็นได้ชัดเลยว่ากระแสโซเชียลหรือกระแสสังคม มีความไม่ยอมรับชัดเจนเกิดขึ้นและเมื่อสูญเสียตรงนี้ มันทำให้เห็นภาพว่าถ้ายังคงอยู่อย่างนี้ต่อไป โอกาสที่จะทำให้เกิดการแข่งขันหรือสิ่งที่คิดว่าจะสร้างเรตติ้งและรายได้มีโอกาสที่จะกระทบกระเทือน
“ผมถึงอยากจะมองภาพรวมว่ากระบวนการทำงานของสื่อที่อยู่ภายใต้เชิงพาณิชย์น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นภาพที่เราเห็นเป็นแค่ปลายเหตุ การแข่งขันที่รุนแรงทำให้การบริหารจัดการกองบรรณาธิการ รายการข่าว เนื้อหา ขาดความละเอียดอ่อน ขาดความรัดกุม ขาดการตรวจสอบ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา
“เด็กคนเดียวไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเกิดเรามีมาตรฐานการควบคุมที่ดี สิ่งที่เกิดท่ามกลางการแข็งขันของรายการจึงบีบคั้นให้ผู้ที่ทำงานต้องทำทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ นอกจากนั้นมาตรฐานของผู้สื่อข่าวยังเป็นเรื่องของตัวตนในโซเชียลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การมีตัวตนต้องแสดงออกด้วยพฤติกรรมบางอย่าง เพราะคนที่ทำแบบนี้ได้รางวัล ได้รับการยอมรับและมีตัวตนในโซเชียลมีเดีย” พีรวัฒน์ กล่าว
นายพีรวัฒน์ กล่าวว่า ในทางกลับกันจึงได้เห็นว่าบวกกับลบนั้นอยู่ใกล้เคียงกันมาก เมื่อคุณพลาดมันลบแล้วก็ลงเหวทันที ถ้าเราทบทวนให้เห็นได้ว่ากระบวนการจัดการเนื้อหา กระบวนการสร้างตัวตนบนวิชาชีพสื่อ ใช้มาตรฐานปกติในการสร้างตัวตนบนโซเชียลมีเดียไม่ได้
ถึงเวลาที่ต้องมาคิดว่าเบ้าหลอม แม่พิมพ์ของคนที่จะทำให้คนที่จะก้าวเข้ามาสู่อาชีพผู้สื่อข่าว มองเห็นแล้วอยากเป็นตามนั้นเป็นรูปแบบไหน ทั้งนี้เราตั้งคำถามว่าจบที่ผู้สื่อข่าวแล้วจบจริงหรือไม่ สังคมกำลังตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักข่าว และทีมที่ไปกับหมอปลา สามารถมีอำนาจในการตัดสินใจทำข่าวได้จริงหรือ ในฐานะที่ตนเคยผู้บริหารกองบรรณาธิการหลายแห่ง เป็นขั้นตอนปกติมากที่ก่อนจะส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จะต้องมีการประชุมหารือกันว่าไปทำอะไร ข่าวอะไร ตัวละครเป็นใคร และมีประเด็นนี้จะเล่นแค่ไหน
“กองบรรณาธิการปฏิเสธการไม่รับรู้ไม่ได้ แต่ถ้าปฏิเสธว่าไม่รู้เลยว่านักข่าวไปทำข่าวอะไร อันนี้หนักกว่ารู้ เพราะมีการเบิกรถ อุปกรณ์ เครื่องมืออะไรต่างๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขออนุญาตต้นสังกัดก่อน สิ่งที่กองบรรณาธิการหลีกเลี่ยงไม่ได้คือไม่รู้ว่านักข่าวไปทำอะไร แม้จะเป็นข่าว ว. 5 หรือลับขนาดไหน
“ที่สำคัญข่าว ว.5 เขาไม่ทำข่าวหมู่ แต่ต้องเป็นข่าวเดี่ยวและมีจรรยาบรรณสากลว่า ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเป็นตัวละครในข่าวหรือจัดฉากขึ้นเองได้ และก่อนออกอากาศก็ต้องมีการกลั่นกรองด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเชิงการทำงานแนวสืบสวนสอบสวน ขาดการแวงแผนในการทำงานและการตรวจสอบอย่างชัดเจน
“ดังนั้นถ้ามีแผนในการทำงานที่ดีนักข่าวที่ต้องรับเคราะห์ต้องออกจากการทำงานก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเบ้าหลอมหรือแม่พิมพ์เขาดี เขาจะรู้เลยว่าเขาทำได้หรือไม่ได้แค่ไหน”
ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
การจัดการภาคประชาชน อุทาหรณ์ ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่อาจไม่ส่งผลดีเสมอไป
อ.เฉลิมชัย เตือนหมอปลา อย่าห้าวดังได้ก็ร่วงได้ ควรรอบคอบ ที่ผ่านมาทำดีแล้ว
"อนุชา" ชี้! "หมอปลา" ทำไม่ถูก เป็นคนจิตใจไม่ปกติ ต้องโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย
สุภิญญา กลางณรงค์ : เสรีภาพทางการเมือง กับการล้ำเส้นละเมิดสิทธิบุคคล
สุภิญญา กล่าวว่า มีข่าวดีคือประเทศไทยถูกจัดอันดับเสรีภาพสื่อขึ้นมาเป็นอันดับที่ 115 ของโลก จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 137 เวลาเราพูดถึงเรื่องจริยธรรมสื่อ หลายกรณีมันยึดโยงถึงเรื่องเสรีภาพ ถ้าเราใช้ตัวชี้วัดที่เป็นสากล สื่อไทยกลับอยู่ในจุดที่มีเสรีภาพน้อย และเหตุใดเสรีภาพสื่อจึงถูกวิจารณ์ว่าละเมิดจริยธรรม
ซึ่งเวลาเราพูดถึงเสรีภาพสื่อจะเป็นเรื่องในเชิงการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็น ที่อาจมีข้อจำกัด จึงทำให้สื่อไปแสดงออกในเรื่องของการใช้เสรีภาพในประเด็นอื่นๆ แทน จนอาจล้ำเส้นจริยธรรมไปโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแรงบีบทางการเมืองหรือไม่
จุดหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอด และ กสทช. ต้องเข้าไปกำกับดูแลในอดีต ทางแก้จะทำอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในการกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคก็คือการประคับประคองไม่ให้ล้ำเส้น แต่ก็ไม่ให้ต่ำกว่าเส้น คือเส้นต่อความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ซึ่งการหลีกเลียงการการนำเสนอประเด็นทางการเมือง เช่น วัคซีน หรือการตรวจสอบภาครัฐ จนถูกฟ้องร้องทำให้สื่อต้องไปเสนอเรื่องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น กรณีบ้านกกกอก หรือกรณีหลวงปู่แสง ซึ่งเป็นจุดวิกฤตของสื่อไทยที่ถูกวิจารณ์
สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกันการกำกับดูแลของ กสทช.ก็ถือว่ายังไม่ได้ดุล ถ้าออกมาเตือน มีบทลงโทษในการละเมิดสิทธิเด็ก หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ปล่อยจนทำให้สื่อยังทำตามกันไปจนเกิดกระแสตีกลับในครั้งนี้
จึงเป็นจุดที่เราต้องช่วยกันวางเส้นใหม่ที่ทั้งสื่อและ กสทช.ต้องร่วมมือกัน อีกทั้งกรณีหลวงปู่แสงเราจะเห็นว่าพลังของผู้บริโภคคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการแทรกแซงสื่อให้อยู่หมัด จนเป็นครั้งแรกที่เห็นองค์กรสื่อออกมาแสดงความรับผิดชอบกันมากขนาดนี้ จึงน่าจะเป็นจุดที่ดีในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสในการหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง
วุฒิชัย พุ่มสงวน : สื่อมืออาชีพ คือสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม
วุฒิชัย กล่าวว่า มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่าผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชนมีกรอบปฏิบัติในเรื่องจริยธรรม แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างสูง มีบทบาทในการชี้นำสังคม ตนไม่ได้เจาะจงกรณีเคสหมอปลา แต่เวลาที่เราไปทำข่าว ไม่ว่าจะเข้าไปในบ้านร้าง หรือรายการผีต่างๆ มีข้อกฎหมายในเรื่องการบุกรุกเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเข้าไปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต การไปทำข่าวจึงต้องดูว่าเจ้าของอาคารสถานที่เขาอนุญาตหรือไม่
นอกจากนั้นข้อกฎหมายที่นักข่าวมักเจอคือ การดูหมิ่นซึ่งหน้า หมิ่นประมาท ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 112 ที่ต้องระวังอีกมาตราที่เข้ามาใหม่ คือ มาตรา 366/4 ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวต้องระมัดระวังในการทำงาน
นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ดูหมิ่นพระสังฆราช ดูหมิ่นคณะสงฆ์ ความผิดเกี่ยวกับการศาสนา เป็นสิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่ และขอย้ำว่าสื่อมืออาชีพคือสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม ถ้าเมื่อไรคุณรับผิดชอบต่อสังคม ถึงคุณจะมีมือถือเครื่องเดียวคุณก็คือสื่อมืออาชีพ
ส่วนนักข่าวที่ถูกให้ออก สามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น นายวุฒิชัย กล่าวว่า กรณีนายจ้างและลูกจ้างในบริษัทเอกชน เราสามารถไปฟ้องที่ศาลแรงงานกลางได้ โดยมีนิติกรคอยช่วยให้คำปรึกษาว่า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการอุทธรณ์นั้นหมายถึงการทำงานในหน่วยงานภาครัฐมากกว่า ขณะที่การโต้แย้งคำสั่งภายในองค์กรได้หรือไม่นั้น ก็แล้วแต่เป็นเรื่องภายในขององค์กรที่สังกัดว่า สามารถทำได้หรือไม่
เพิ่ม Spring News
ลงในหน้าจอหลักของคุณ