svasdssvasds

ปี 2022 ตัวเลขไทย ยังจำเป็นอยู่ไหม ? หลังมีการเรียกร้องให้ยกเลิกใช้

ปี 2022 ตัวเลขไทย ยังจำเป็นอยู่ไหม ? หลังมีการเรียกร้องให้ยกเลิกใช้

ผุดแคมเปญยกเลิกการใช้เลขไทยในเอกสารราชการ ลามไปจนถึงการยกเลิกการใช้ พ.ศ. มาย้อนดูจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ พร้อมตอบคำถามไปพร้อมกันว่ายังจำเป็นอยู่ไหม ?

เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัทโอเพ่นดรีม (Opendream) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Keng Susumpow ระบุว่า "ทีม Change.org มาชวนแปลงโพสบ่น #หัวจะปวด ให้กลายเป็นแคมเปญ ก็ลองดูครับ" พร้อมลิงค์แคมเปญ "ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล"

ขณะเดียวกัน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมระบุว่า "สนับสนุนแคมเปญนี้ค่ะ ชวนลงชื่อและแชร์ คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนที่ต้องวิเคราะห์หรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลของรัฐจะดีขึ้นมาก"

โดยมี นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า "เลิกใช้ พ.ศ.ด้วยครับ จะได้ไม่ต้องบวกลบด้วย 543 กลับไปกลับมา"

ในแคมเปญ "ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล" ระบุว่า "การใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเพื่อการคำนวณเป็นการขัดขวางความเจริญของงานประมวลผลเอกสารดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์"

เหตุผลการการ “ส่งเสริม” นี้ก็ไม่ได้เริ่มจากการอยากให้ใช้เลขไทยด้วย แต่เริ่มจากข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ที่พบว่ามีการใช้ปี ค.ศ. 2000 กันแพร่หลายในหน่วยงานราชการ เช่น ไอที 2000 มหกรรมการศีกษา 2000 เขาก็เป็นห่วงกันว่า หากราชการยอมรับการใช้เลข 2000 แล้ว “...ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเอกลักษณ์ของไทยจนกลายเป็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ยาก”

ในแคมเปญ ยังระบุต่ออีกว่า มันเลยเป็นต้นเหตุคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ที่จะ “กำชับ” ให้หน่วยงานใช้ พ.ศ. แทน ค.ศ. แล้วก็ "แทรก" ให้ “ส่งเสริม” การใช้เลขไทย เพราะอยาก “...อนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติและเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน เพราะปัจจุบันภาษาที่เหลืออยู่ในโลกมีไม่มากนัก...” ซึ่งหลังจากนั้นทุกหน่วยงานก็เริ่มใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัล อย่างบ้าคลั่ง เช่น Windows ๑๐

เดิม ตัวเลขไทย เป็นอักษรตัวเลขที่ใช้แสดงจำนวนนับในภาษาไทย ประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยดัดแปลงมาจากตัวอักษร และมีต้นตอมาจากอักษรเทวนาครีของอินเดีย เช่นเดียวกับเลขอารบิก เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาษาที่ใช้ระบบจำนวนนับเป็นเลขฐานสิบ และมีการเปลี่ยนแปลงสัณฐาน จากอดีตสู่ปัจจุบันน้อยมาก

หากย้อนมองกลับไปในมติ ครม. เมื่อปี 2543 จะพบว่ามีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเว็บไซต์ thailibrary.in.th ระบุว่า ระบบสอบถามข้อมูลออนไลน์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการตอบเรื่องนี้ไว้ว่า "เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น .... ส่วนการใช้เลขไทยในหนังสือราชการนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละส่วนราชการ ในบางกรณีตัวเลขไทยอาจไม่เอื้อต่องานบางประเภท เช่น งานการเงิน งานวิเคราะห์ตารางตัวเลข หรืองานที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนราชการก็สามารถพิจารณาใช้เลขอารบิคได้ โดยไม่เป็นการบังคับว่าส่วนราชการจะต้องใช้เลขไทยอย่างเดียวเท่านั้น"

นั่นหมายความว่า หากเอกสารบางฉบับที่เป็นชุดข้อมูลจำนวนมาก(Big Data) ในยุคใหม่ที่คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูลผ่านเลขอารบิก จะทำให้ไทยประสบปัญหาในจุดนี้เพราะคอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจตัวเลขไทย 

แล้วคุณว่าเลขไทยยังจำเป็นอยู่ไหม ?

 

related